คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10451/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ พ. และได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อปี 2520 อันเป็นเวลาภายหลังที่บรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ใช้บังคับแล้ว ที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นสินบริคณห์แต่เป็นสินสมรสตามบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1476 (5)
พ. มีทรัพย์สินเป็นที่ดินราคาเป็นหมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับที่ดินพิพาททั้งสามแปลงที่ยกให้แก่จำเลยที่ 1 บุตรของ พ. กับภริยาคนก่อนซึ่งมีราคาเพียงเล็กน้อย ทั้ง พ. ก็เคยยกที่ดินให้แก่บุตรทั้งสามคนที่เกิดกับโจทก์ การยกที่ดินพิพาททั้งสามแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการยกให้แก่บุตรทุกคนอย่างเสมอกันตามกำลังทรัพย์ของผู้ยกให้ จึงเป็นการยกให้โดยเสน่หาที่พอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยาตามมาตรา 1476 (5) แม้โจทก์จะไม่ให้ความยินยอมก็ฟ้องเพิกถอนการให้โดยเสน่หาระหว่าง พ. กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า นิติกรรมการจดทะเบียนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 1144, 1145, 1146 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างพันเอก (พิเศษ) พล กับจำเลยที่ 1 และนิติกรรมการจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 1144 และ 1145 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งทำขึ้น เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2539 ตกเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันโจทก์ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนให้ที่ดินและนิติกรรมจำนองที่ดินดังกล่าว โดยให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสามแปลงแล้วใส่ชื่อพันเอก (พิเศษ) พล เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ตามเดิม ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันโอนสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสามแปลงกลับเป็นชื่อพันเอก (พิเศษ) พล โดยปราศจากภาระผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้นด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสามเอง หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน หากโอนไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 86,769,863.01 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 55,331,506.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา กองทุนรวมแกมม่าแคปปิตอลยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 3 เนื่องจากซื้อทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 จากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับพันเอก (พิเศษ) พล เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2511 โดยไม่ได้ทำสัญญาก่อนสมรส พันเอก (พิเศษ) พล ถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 1 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันเอก (พิเศษ) พล ซึ่งเกิดจากนางยุพิน ภริยาคนก่อน เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2520 พันเอก (พิเศษ) พล ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทะเบียนเลขที่ 1144, 1145, 1146 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยลงชื่อพันเอก (พิเศษ) พล แต่ผู้เดียว ต่อมามีเอกสารระบุว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2539 พันเอก (พิเศษ) พล และจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้นายรณพร ไปทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 โดยใช้หนังสือมอบอำนาจเป็นหลักฐานในการจดทะเบียนโอน และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทะเบียนเลขที่ 1144 และ 1145 ไปทำสัญญาจำนองและจดทะเบียนจำนองเพิ่มหลักทรัพย์ไม่เพิ่มวงเงินเพื่อเป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีต่อจำเลยที่ 3
คดีมีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมยกให้โดยเสน่หาระหว่างพันเอก (พิเศษ) พล กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์และพันเอก (พิเศษ) พล ได้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเมื่อ ปี 2520 อันเป็นเวลาภายหลังที่บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ใช้บังคับแล้ว ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงไม่เป็นสินบริคณห์ แต่เป็นสินสมรสตามบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะได้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาและโจทก์กับพันเอก (พิเศษ) พล ไม่ได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1476 (5) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำนิติกรรมยกให้ เห็นว่า พันเอก (พิเศษ) พล มีทรัพย์สินเป็นที่ดินราคาเป็นหมื่นล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับที่ดินพิพาททั้งสามแปลงที่ยกให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงจะมีราคาเพียงเล็กน้อย ทั้งพันเอก (พิเศษ) พล ก็เคยยกที่ดินให้แก่บุตรที่เกิดกับโจทก์ทั้งสามคน การยกที่ดินพิพาททั้งสามแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการยกให้แก่บุตรทุกคนอย่างเสมอกัน ตามกำลังทรัพย์ของผู้ให้ จึงเป็นการยกให้โดยเสน่หาที่พอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1476 (5) แม้โจทก์จะไม่ได้ให้ความยินยอมก็ฟ้องเพิกถอนการยกให้โดยเสน่หาระหว่างพันเอก (พิเศษ) พล กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ การยกให้โดยเสน่หามีผลสมบูรณ์ทำให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องพยานในหนังสือมอบอำนาจ ให้ความยินยอมหรือไม่ เพราะไม่มีผลต่อรูปคดี เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับการยกให้ซึ่งที่ดินพิพาทโดยชอบและเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่แท้จริงแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมจำนองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1144 และ 1145 ได้ และจำเลยที่ 3 ย่อมรับจำนองไว้โดยชอบ ไม่ต้องรับผิดไถ่ถอนจำนอง จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ และที่ดินพิพาทมีราคาเพียงใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share