คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะบรรยายว่า โจทก์จำใจทำนิติกรรมขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 ทั้ง ๆ ที่โจทก์ไม่สมัครใจก็ตาม แต่โจทก์ก็กล่าวด้วยว่าโจทก์มีความเชื่อ ในคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ว่า ถ้า การสร้างเขื่อนทั้งหลายตามโครงการของจำเลยที่ 1เสร็จ น้ำต้องท่วมที่ดินของโจทก์แน่ โจทก์จึงต้องขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 กรณีเป็นเรื่องโจทก์กล่าวอ้างว่าถูกจำเลยที่ 1ใช้กลฉ้อฉลให้โจทก์ขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 อันเป็นผลให้สัญญาซื้อขายที่พิพาทตกเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 121 ซึ่งตามมาตรา 143 โจทก์จะต้องบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นภายในเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่โจทก์อาจให้สัตยาบันได้ แต่ต้องไม่ล่วงไปถึงสิบปีนับแต่เมื่อได้ทำโมฆียะกรรมนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ได้ทำสัญญาขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 ถึงวันฟ้อง พ้นเวลาสิบปีแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจบอกล้างและฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทได้ ลำพังแต่เหตุตามฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์ไม่สมัครใจขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น หาเป็นเหตุให้นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะดัง ที่โจทก์ฎีกาไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เสนอขอซื้อที่ดินของโจทก์ โดยแจ้งว่าเมื่อทางราชการสร้างเขื่อนเก็บน้ำ ที่ดินของโจทก์จะถูกน้ำท่วมหมดและโจทก์จะไม่ได้รับค่าชดเชยเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อจำใจยอมขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2513 ทั้ง ๆ ที่ไม่สมัครใจขาย แต่หลังจากสร้างเขื่อนแล้วน้ำไม่เคยท่วมที่ดินที่โจทก์ขายให้แก่จำเลยที่ 1 เลย ต่อมาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลรักษาที่ดินแปลงนี้ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยร่วมกันโอนที่ดินคืนและรับเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยจากโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ขายที่ดินให้จำเลยที่ 1 ด้วยความสมัครใจ จำเลยที่ 1 มิได้ใช้กลฉ้อฉลให้โจทก์หลงเข้าใจผิดและตัดฟ้องว่าโจทก์ฟ้องเกิน 10 ปี นับแต่วันที่ทำนิติกรรม หมดสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนการโอนได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นายศักดา เจริญพิบูลย์บุตรโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะบรรยายว่า โจทก์จำใจทำนิติกรรมขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 ทั้ง ๆ ที่โจทก์ไม่สมัครใจก็ตาม แต่โจทก์ก็กล่าวด้วยว่าโจทก์มีความเชื่อในคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ว่า ถ้าการสร้างเขื่อนทั้งหลายตามโครงการของจำเลยที่ 1 เสร็จน้ำต้องท่วมที่ดินของโจทก์แน่ โจทก์จึงต้องขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 กรณีจึงเป็นเรื่องโจทก์กล่าวอ้างว่าถูกจำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉลให้โจทก์ขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 อันเป็นผลให้สัญญาซื้อขายที่พิพาทตกเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 121 ซึ่งตามมาตรา 143 โจทก์จะต้องบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นภายในเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่โจทก์จะอาจให้สัตยาบันได้ แต่ต้องไม่ล่วงไปถึงสิบปีนับแต่เมื่อได้ทำโมฆียะกรรมนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ได้ทำสัญญาขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2513 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 6 มกราคม 2530พ้นเวลาสิบปีแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจบอกล้าง และฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาซื้อขายที่พิพาทตกเป็นโมฆะมาแต่แรก เพราะโจทก์ไม่สมัครใจจะขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ คงอ้างแต่เพียงว่าโจทก์ไม่สมัครใจขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ลำพังแต่เหตุตามฟ้องหาเป็นเหตุให้นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะดังที่โจทก์ฎีกาไม่…”
พิพากษายืน.

Share