แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ป. รัษฎากร มาตรา 88 ทวิ (2) ซึ่งกำหนดว่าการประเมินภาษีการค้าให้กระทำได้ภายในสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า หมายความว่า ในกรณีที่มีกำหนดเวลาให้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้หลายวัน ก็ให้นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลานั้น ส่วนในกรณีที่วันยื่นแบบแสดงรายการการค้าได้กำหนดไว้แน่นอนเป็นวันหนึ่งวันใด โดยเฉพาะ เพียงวันเดียวแล้ว ก็ย่อมต้องถือว่าวันที่กำหนดไว้แน่นอนนั้นเป็นวันสุดท้าย การนับระยะเวลาจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่กำหนดไว้แน่นอนนั้น ประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีการค้า เรื่องกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการการค้า และการชำระภาษีการค้าของผู้นำเข้าที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าทุกครั้งที่มีการยื่นใบขนสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและชำระภาษีในวันนำเข้า ซึ่งเป็นเพียงวันเดียวที่กำหนดไว้แน่นอนแล้ว การนับระยะเวลาตามมาตรา 88 ทวิ (2) จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันยื่นแบบแสดงรายการการค้าตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ในกรณีที่ผู้มีเอกสิทธิทางการทูตซื้อสินค้าจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ซึ่งไม่มีการยื่นแบบแสดงรายการการค้า แต่เปลี่ยนเป็นการยื่นบัญชีเล็ดเยอร์ ใบประทวนของใช้ในบ้านเมืองแทนเมื่อจะปล่อยของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ต้องถือว่าวันปล่อยของออกคือวันที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการการค้าตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว แม้โจทก์จะเป็นผู้นำเข้าสินค้าพิพาทและมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามที่เจ้าพนักงานได้ประเมิน แต่เจ้าพนักงานทำการประเมินและแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบเกินกว่า 10 ปีนับแต่วันปล่อยของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน การประเมินดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 88 ทวิ (2)แห่ง ป.รัษฎากร.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2520 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้มีแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าลงวันที่ 8 ธันวาคม 2520ถึงดจทก์เรียกเก็บภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาล สำหรับสุราต่างประเทศเป็นเงินรวม 167,850.30 บาทโดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้น้ำเข้าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2510 โจทก์มิใช่ผู้นำเข้าสุราดังกล่าว โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการดังกล่าววินิจฉัยว่า การประเมินชอบแล้ว แต่งดเก็บเบี้ยปรับภาษีการค้าและลดภาษีบำรุงเทศบาลลง คงเรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงิน 111,900.20 บาท โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจำนวนดังกล่าว ทั้งการประเมินไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากรมาตรา 88 ทวิ(2) เนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบเกินกว่า 10 ปีนับจากที่ได้นำสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการประเมินภาษีการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นผู้นำเข้าสินค้าพิพาท จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์ไม่ได้รับยกเว้นในการเสียภาษีอากรสำหรับสินค้าพิพาท เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียภาษีอากรตามฟ้อง เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภายใน 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าสำหรับสินค้าพิพาทซึ่งโจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2510 การประเมินจึงไม่ขาดอายุความและชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานที่ประเมินให้โจทก์เสียภาษี และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…ตามประมวลรัษฎากร มาตรา88 ทวิ(2) มีความหมายว่า ในกรณีที่มีกำหนดเวลาให้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้หลายวัน ก็ให้นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลานั้น ส่วนในกรณีที่วันยื่นแบบแสดงรายการการค้าได้กำหนดไว้แน่นอนเป็นวันหนึ่งวันใดโดยเฉพาะเพียงวันเดียวแล้ว ก็ย่อมต้องถือว่าวันที่กำหนดไว้แน่นอนนั้นเป็นวันสุดท้ายตามความหมายในมาตรา 88 ทวิ(2) ดังกล่าวการนับระยะวเลาจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ได้กำหนดไว้แน่นอนนั้น คดีนี้เป็นการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลสำหรับสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีการค้าเรื่อง กำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการการค้า และการชำระภาษีการค้าของผู้นำเข้า ฉบับลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2509 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น กำหนดไว้ว่าให้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าทุกครั้งที่มีการยื่นใบขนสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและชำระภาษีในวันนำเข้าซึ่งเป็นเพียงวันเดียวที่กำหนดไว้แน่นอนแล้ว มิได้มีช่วงกำหนดเวลาหลายวันอันจะทำให้ถือว่าการประเมินเริ่มนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาดังที่โจทก์ฎีกา ดังนั้น การเริ่มนับระยะเวลาตามมาตรา 88 ทวิ(2)จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันยื่นแบบแสดงรายการการค้าตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ในคดีนี้เนื่องจากผู้มีเอกสิทธิทางการทูตเป็นผู้ซื้อสินค้าพิพาทจึงไม่มีการยื่นแบบแสดงรายการการค้า แต่เปลี่ยนเป็นการยื่นบัญชีเล็ดเยอร์ ในประทวนของใช้ในบ้านเมืองเอกสารหมาย ล.1 แทนเมื่อจะปล่อยของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนซึ่งต้องถือว่าวันปล่อยของออกคือวันที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการการค้าตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวนั่นเอง ปรากฏว่าวันปล่อยสินค้าพิพาททุกรายการออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนอยู่ในเดือนพฤศจิกายน 2510ดังนั้น แม้จะฟังได้ตามฎีกาจำเลยว่าโจทก์เป็นผู้นำเข้าสินค้าพิพาทและมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามที่เจ้าพนักงานของจำเลยประเมิน แต่เจ้าพนักงานทำการประเมินและแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่13 ธันวาคม 2520 จึงเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้ว นับแต่วันปล่อยของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ทำให้การประเมินดังกล่าวไม่ชอบด้วยมาตรา 88 ทวิ(2) แห่งประมวลรัษฎากร…”
พิพากษายืน.