แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การร้องขอเพื่อให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 นั้น จะต้องเป็นการขอให้คุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดที่พิพาทกันในคดีได้รับการคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะได้พิพากษา แต่คดีที่ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกซึ่งมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดแต่เพียงว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย มิได้พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกของผู้ตาย การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเกี่ยวกับบ้านที่ดินและเงินฝากในบัญชีธนาคารซึ่งเป็นทรัพย์มรดกโดยให้ปิดบ้าน และห้ามทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์มรดกดังกล่าว จึงไม่อยู่ในกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาหรือเพื่อบังคับคำพิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวสมจิตต์ ผู้ตาย ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ผู้คัดค้านยื่นคำร้องลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 และวันที่ 21 มีนาคม 2549 ขอคุ้มครองทรัพย์มรดกในระหว่างการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 โดยให้ศาลมีคำสั่งปิดบ้านเลขที่ 82 ซอยสุขุมวิท 38 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ทั้งประตูใหญ่ ประตูด้านหน้าด้านหลังของตัวบ้านและประตูเล็กซึ่งเชื่อมต่อกับบ้านเลขที่ 80 โดยให้ปิดคำสั่งดังกล่าวไว้ที่ประตูใหญ่ ห้ามบุคคลภายนอกเข้ารบกวนหรือบุกรุกที่ดินระหว่างการพิจารณาของศาล ให้เจ้าหน้าที่ศาลนำกุญแจคล้องประตูและให้เก็บรักษากุญแจไว้ที่ศาลจนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยผู้คัดค้านยินยอมเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด เนื่องจากผู้คัดค้านพบเห็นการกระทำของผู้อยู่อาศัยในบ้านเลขที่ 80/2 ซึ่งมีเขตที่ดินติดต่อกับบ้านเลขที่ 82 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดก โดยบุกรุกแผ้วถางหญ้าและปรับหน้าที่ดินเพื่อจะใช้ประโยชน์บางอย่างโดยปราศจากความยินยอมจากผู้ร้องและผู้คัดค้าน นอกจากนี้เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดก ขอให้มีหมายแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาพระโขนง ระงับการทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 149638-149639 ซอยสันติสุข ตำบลพระโขนง (ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ) กรุงเทพมหานครให้ผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาชิดลม ระงับการทำนิติกรรมใดๆ กับบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 001-1-39227-0 สำนักงานใหญ่ระงับการทำนิติกรรมใดๆ กับบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 001-1-37189-2 และสาขาทองหล่อ ระงับการทำนิติกรรมใดๆ กับบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 042-1-01735-5 ด้วย
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องทั้งสองฉบับ ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า การร้องขอเพื่อให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 นั้น จะต้องเป็นการขอให้คุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดที่พิพาทกันในคดีได้รับการคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะได้พิพากษา แต่คดีนี้เป็นเรื่องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกซึ่งมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดแต่เพียงว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย มิได้พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกของผู้ตาย ประโยชน์ของผู้คัดค้านอยู่ที่การจะได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้อยู่ที่การจะได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของผู้ตาย การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเกี่ยวกับบ้านที่ดินและเงินฝากในบัญชีธนาคารซึ่งเป็นทรัพย์มรดกโดยให้ปิดบ้านเลขที่ 82 และห้ามทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์มรดกดังกล่าว จึงไม่อยู่ในกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาหรือเพื่อบังคับคำพิพากษาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้คัดค้านต่อไป เพราะไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงผลของคดีได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งมานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ