แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บริษัท ม. เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท อ. แล้วบริษัท ม. ให้ พ. เช่าซื้อช่วง โดย พ. นำรถไปประกันภัยไว้กับโจทก์ มีบริษัท ม. เป็นผู้รับประโยชน์ แม้สัญญาเช่าซื้อช่วงจะระบุวันเริ่มต้นของสัญญาหลังวันเริ่มต้นของสัญญาประกันภัย การตีความวันทำสัญญาประกันภัยย่อมเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ถือว่า พ. ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์แล้ว เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อหายไปในบริเวณลานจอดรถของโรงแรมของจำเลย และโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ม. ผู้รับประโยชน์ไปตามสัญญาประกันภัยแล้วย่อมได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ม. จากจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน บฉ 5529 ประจวบคีรีขันธ์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 253,130 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 250,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน บฉ 5529 ประจวบคีรีขันธ์ แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้เงินจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 19 มิถุนายน 2543) ไม่เกิน 3,130 บาท เท่าที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…รถยนต์หมายเลขทะเบียน บฉ 5529 ประจวบคีรีขันธ์ เป็นของบริษัทมิตซูประจวบ จำกัด ได้ให้นายเพิ่มเกียรติ เช่าซื้อตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อช่วง นายเพิ่มเกียรตินำรถยนต์คันดังกล่าวประกันภัยไว้กับโจทก์วงเงิน 250,000 บาท โดยบริษัทมิตซูประจวบ จำกัด เป็นผู้รับประโยชน์ตามตารางกรมธรรม์และรายการคุ้มครองตามกรมธรรม์ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน 2542 รถยนต์คันดังกล่าวสูญหายไป โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทมิตซูประจวบ จำกัด จำนวน 250,000 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อช่วงระบุวันเริ่มต้นแห่งสัญญาหลังวันเริ่มต้นแห่งวันทำสัญญาประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยนายเพิ่มเกียรติจึงยังไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เอาประกันภัยและเมื่อพยานเอกสารรับฟังได้โดยชัดแจ้งถึงกำหนดระยะเวลาที่ลงไว้ในสัญญาแล้วก็ไม่จำต้องตีความให้เป็นคุณแก่ผู้ใดนั้น เห็นว่า ตารางกรมธรรม์และรายการคุ้มครองตามกรมธรรม์ระบุว่า นายเพิ่มเกียรติเป็นผู้เอาประกันภัยและบริษัทมิตซูประจวบ จำกัด เป็นผู้รับประโยชน์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์เชื่อว่านายเพิ่มเกียรติเป็นผู้เช่าซื้อและมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยขณะทำสัญญาจึงเข้าทำสัญญาด้วยเพราะหากโจทก์ไม่เชื่อเช่นนั้นก็คงไม่เข้าทำสัญญาด้วยเนื่องจากนายเพิ่มเกียรติอาจปฏิเสธไม่ส่งเบี้ยประกันภัยโดยอ้างว่าสัญญาดังกล่าวไม่ผูกพันนายเพิ่มเกียรติในภายหลังได้ เมื่อนายเพิ่มเกียรติผู้เช่าซื้อประสงค์จะผูกพันตามสัญญาประกันภัยโจทก์ก็เจตนาจะเข้ารับเสี่ยงภัยตามสัญญาประกันภัยและบริษัทมิตซูประจวบ จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อก็ประสงค์จะได้รับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยในฐานะเป็นผู้รับประโยชน์แสดงให้เห็นว่าวัตถุประสงค์แห่งสัญญาประกันภัยย่อมมุ่งประสงค์ไปที่การประกันภัยรถยนต์คันที่นายเพิ่มเกียรติเป็นผู้เช่าซื้อตลอดระยะเวลาที่เช่าซื้อเป็นสำคัญยิ่งกว่าวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยที่พิมพ์เป็นตัวอักษร แม้สัญญาเช่าซื้อช่วงจะระบุวันเริ่มต้นของสัญญาหลังวันเริ่มต้นของสัญญาประกันภัย การตีความวันทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวย่อมต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 จึงถือได้ว่า นายเพิ่มเกียรติผู้เอาประกันภัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์แล้ว เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปตามสัญญาประกันภัยแล้วย่อมได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า นายเพิ่มเกียรตินำรถยนต์ที่เอาประกันภัยไปรับจ้างหรือให้เช่าเป็นการผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ปัญหาดังกล่าวจำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ จึงไม่รับวินิจฉัย ดังนั้น เมื่อเนื้อหาของฎีกาจำเลยทั้งสองข้อดังกล่าวคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาเป็นฎีกา โดยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ฎีกาทั้งสองข้อดังกล่าวจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยคืนรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ หมายเลขทะเบียน บฉ 5529 ประจวบคีรีขันธ์ แก่โจทก์ร่วมก่อน หากคืนไม่ได้จึงให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นการไม่ถูกต้องเพราะโจทก์รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลย เนื่องจากโจทก์ในฐานะผู้ประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทมิตซูประจวบ จำกัด ไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเท่านั้น จึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยส่งคืนรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุแก่โจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
อนึ่ง เมื่อศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทมิตซูประจวบ จำกัด แล้วตามเอกสารหมาย ป.จ. 7 และ ป.จ. 8 โดยเอกสารหมาย ป.จ. 8 ซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินของบริษัทมิตซูประจวบ จำกัด ระบุว่าได้รับเงินจากโจทก์ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2543 จึงเห็นควรกำหนดให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทมิตซูประจวบ จำกัด”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยคืนรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บฉ 5529 ประจวบคีรีขันธ์ แก่โจทก์ ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2543 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ