คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10428/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บันทึกเงินยืมมีข้อความว่า วันที่ 9 ธันวาคม 2543 ข้าพเจ้า ส. ขอทำบันทึกว่าได้ยืมเงินและรับเงินยืมจาก พ. ไปแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 4,500,000 บาท (สี่ล้านห้าแสนบาท) จริง และขอชำระเงินยืมดังกล่าวคืนแก่ พ. ผู้ให้ยืมเงินต่อไปนี้… เพื่อเป็นหลักฐานในการบันทึกนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยาน… ซึ่งก็จะได้ความว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมและรับเงินไปจากโจทก์ 4,500,000 บาท ดังความในตอนท้ายที่มีลายมือชื่อของจำเลยว่าผู้ยืมและโจทก์ว่าผู้ให้ยืม บันทึกเงินยืมดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน จึงไม่เข้าลักษณะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,520,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,520,000 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2543 โจทก์และจำเลยทำบันทึกเงินยืมตามเอกสารหมาย จ.1 โดยโจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้ให้ยืมและจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้ยืม คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า บันทึกเงินยืมเอกสารหมาย จ.1 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง หรือไม่ และจำเลยจะต้องรับผิดชำระหนี้ต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่
…พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า บันทึกเงินยืมเอกสารหมาย จ.1 มีข้อความว่าวันที่ 9 ธันวาคม 2543 ข้าพเจ้านายสิทธิชัย ขอทำบันทึกว่าได้ยืมเงินและรับเงินยืมจากคุณสุพจน์ ไปแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 4,500,000 บาท (สี่ล้านห้าแสนบาท) จริง และขอชำระเงินยืมดังกล่าวคืนแก่คุณสุพจน์ ผู้ให้ยืมเงินต่อไปนี้… เพื่อเป็นหลักฐานในการบันทึกนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยาน… ซึ่งก็จะได้ความว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมและรับเงินไปจากโจทก์ 4,500,000 บาท ดังความในตอนท้ายที่มีลายมือชื่อของจำเลยว่าผู้ยืมและโจทก์ว่าผู้ให้ยืม บันทึกเงินยืมดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน จึงไม่เข้าลักษณะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ สำหรับปัญหาว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระหนี้ต่อโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์อ้างตนเองและมีนายสุนทร ทนายความโจทก์เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกเงินยืมเอกสารหมาย จ.1 ยืนยันว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 4,500,000 บาท และมีการชำระหนี้เงินยืมด้วยการโอนสิทธิครอบครองบ้านและที่ดินตามข้อตกลงข้อ (1) ส่วนเงินยืมที่เหลือมีการผ่อนชำระให้โจทก์ 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 180,000 บาท เมื่อพิเคราะห์บันทึกเงินยืมเอกสารหมาย จ.1 นอกจากจำเลยจะลงลายมือชื่อในช่องผู้ยืมแล้ว จำเลยยังลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านข้างของเอกสารบริเวณที่มีการแก้ไขข้อความในเรื่องการผ่อนชำระหนี้ที่เหลือ รวมทั้งเรื่องของดอกเบี้ย ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญของการกู้ยืมเงิน และจำเลยเองก็นำสืบยอมรับว่า ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกเงินยืมดังกล่าวและโอนสิทธิครอบครองบ้านและที่ดินตามข้อ (1) กับโอนเงินคืนโจทก์รวม 280,000 บาท จริง เป็นการเจือสมพยานโจทก์ จำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ ว่าเป็นการทำนิติกรรมอำพรางซึ่งก็ไม่ได้มีหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าเป็นการอำพรางนิติกรรมการเป็นหุ้นส่วนทำกิจการห้องพักใหม่ระหว่างโจทก์กับจำเลยอย่างไร รวมทั้งข้อที่จำเลยอ้างว่าได้ชำระหนี้เงินลงทุนดังกล่าวคืนโจทก์ครบถ้วนแล้ว ก็ไม่ปรากฏหลักฐานการชำระหนี้ดังกล่าวได้เวนคืนแล้วมายืนยัน ข้ออ้างของจำเลยจึงมีน้ำหนักให้รับฟังน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาคดีมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share