คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5320/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์ทั้งหลายต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของประกาศการขายทอดตลาดเป็นสำคัญเมื่อปรากฏว่าผู้ซื้อทรัพย์เคยขอขยายระยะเวลาการวางเงินมาแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีก็อนุญาตให้ขยายได้ทั้ง 2 ครั้ง รวมเป็นระยะเวลา 60 วัน ตามระเบียบคำสั่งและวิธีปฏิบัติของกรมบังคับคดีที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตได้ โดยจะครบกำหนดวันที่ 30 สิงหาคม 2547 เมื่อผู้ซื้อทรัพย์มาขออนุญาตขยายระยะเวลาการวางเงินเป็นครั้งที่ 3 อีก 30 วัน แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาตามคำร้องโดยเห็นว่าไม่มีเหตุสมควรนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแล้ว เนื่องเพราะหากเจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ผู้ซื้อทรัพย์ขยายระยะเวลาไปอีกก็จะเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อการบังคับคดี ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,877,301.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,570,423.41 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยต้องผ่อนชำระเดือนละไม่น้อยกว่า 50,000 บาท ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2540 เป็นต้นไป ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 2 ปี หากจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้เดือนใดเดือนหนึ่งหรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดทั้งหมดให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยยึดทรัพย์ที่จำนองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1830 และ 1831 พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองชำระหนี้ได้ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนแก่โจทก์และค่าทนายความอีก 5,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามสัญญา โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดียึดทรัพย์ดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดและเจ้าพนักงานบังคับคดีขออนุญาตขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าว แล้วดำเนินการขายทอดตลาดไปโดยเคาะไม้ขายแก่ผู้ซื้อทรัพย์
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2547 ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดในราคา 3,440,000 บาท โดยวางเงินมัดจำไว้ 70,000 บาท ส่วนที่เหลือ 3,370,000 บาท ผู้ซื้อทรัพย์ขอกู้เงินจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 2,500,000 บาท โดยอยู่ระหว่างขออนุมัติสินเชื่อของธนาคารผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือเป็นครั้งที่ 3 โดยผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำขอ 2 ครั้งแรก ครั้งละ 30 วัน รวม 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 30 สิงหาคม 2547 แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งเห็นควรยกคำร้อง ผู้ซื้อทรัพย์ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขยายระยะเวลาออกไปอีก 30 วัน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร การชำระราคาซื้อขายเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์ทั้งหลายต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของประกาศการขายทอดตลาดเป็นสำคัญ ดังนั้น แม้ผู้ซื้อทรัพย์จะซื้อทรัพย์ได้ในราคา 3,440,000 บาท ซึ่งเป็นเงินค่อนข้างมาก โดยผู้ซื้อทรัพย์วางมัดจำ 70,000 บาท ส่วนที่เหลือผู้ซื้อทรัพย์ต้องชำระให้เสร็จภายใน 15 วัน จึงล้วนเป็นภาระของผู้ซื้อทรัพย์เองโดยแท้ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขของประกาศขายทอดตลาดดังกล่าว อีกทั้งเมื่อปรากฏว่าผู้ซื้อทรัพย์เคยขอขยายระยะเวลาการวางเงินมาแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีก็อนุญาตให้ขยายได้ทั้ง 2 ครั้ง รวมเป็นระยะเวลา 60 วัน ตามระเบีบบคำสั่งและวิธีปฏิบัติของกรมบังคับคดีที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตได้โดยจะครบกำหนดวันที่ 30 สิงหาคม 2547 ดังนี้ ที่ผู้ซื้อทรัพย์มาขออนุญาตขยายระยะเวลาการวางเงินเป็นครั้งที่ 3 อีก 30 วัน โดยผู้ซื้อทรัพย์มีหนังสือของผู้จัดการธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหลักฐานว่าผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำขอกู้เงินจากธนาคารดังกล่าว 2,500,000 บาท จริง และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานใหญ่ แต่การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาตามคำร้องโดยเห็นว่าไม่มีเหตุสมควรนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแล้ว เนื่องเพราะหากเจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ผู้ซื้อทรัพย์ขยายระยะเวลาไปอีกก็จะเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อการบังคับคดี ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ ดังเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกวินิจฉัยไว้ ฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share