คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5262/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ แม้ปรากฏว่าผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ก่อนจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา แต่ก็ยังอยู่ในระยะเวลายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา จึงเป็นการถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วจึงเห็นสมควรสั่งไปเสียเลย เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) จึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 113,616 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูก มาตรา 352 วรรคแรก) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 24 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษในกระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 113,616 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 4 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 16 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงแต่ผู้พิพากษาดังกล่าวไม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาเพราะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ โจทก์และจำเลยไม่คัดค้าน
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ แม้ปรากฏว่าผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ก่อนจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา แต่ก็ยังอยู่ในระยะเวลายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา จึงเป็นการถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุดในกรณีนี้ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วจึงเห็นสมควรสั่งไปเสียเลย เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)”
จึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ

Share