คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ทำสัญญาเปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารเจ้าหนี้โดยมีข้อตกลงว่า ถ้าหากธนาคารจ่ายเงินตามเช็คให้เกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีของจำเลยที่ 3 ไป จำเลยที่ 3ยอมใช้เงินส่วนที่ธนาคารจ่ายเกินบัญชีให้ธนาคารพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามกฎหมาย แต่ไม่มีข้อตกลงให้มีการตัดทอนบัญชีหนี้สินระหว่างกันอันมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด และถือไม่ได้ว่าเป็นการค้าขายอย่างอื่นในทำนองเช่นว่านั้นอันจะคิดดอกเบี้ยทบต้นกันได้ ธนาคารเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น
คำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันระบุว่า ผู้ฝากยอมให้ดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามกฎหมาย มิได้กำหนดอัตราที่แน่นอนไว้โดยนิติกรรม และไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงว่าให้คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราเท่าใด กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 7ที่ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3ไว้เด็ดขาด ธนาคารเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 เป็นหนี้เงินเบิกเกินบัญชี 235,923.28 บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า ธนาคารเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยได้ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1587/2523 ระหว่าง บริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด โจทก์ นายกิมเม้งพิบูลสุข จำเลย สมควรให้ธนาคารเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน145,088.46 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ส่วนที่ขอเกินมาให้ยก
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เจ้าหนี้รายนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ 235,923.28 บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ทางสอบสวนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำการสอบสวนพยานของฝ่ายเจ้าหนี้ฝ่ายเดียว ส่วนลูกหนี้ (จำเลยที่ 3)หลบหนี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงงดสอบสวน ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2522 ลูกหนี้(จำเลยที่ 3) ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารเจ้าหนี้สาขาวรจักร ปรากฏตามคำขอเอกสารหมาย จ.3 หลังจากนั้นลูกหนี้(จำเลยที่ 3) ได้นำเงินเข้าและเบิกเงินออกจากบัญชีเรื่อยมาจนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2522 ลูกหนี้ (จำเลยที่ 3)ได้นำเงินเข้า 2,500 บาท จนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ปรากฏว่าธนาคารเจ้าหนี้ได้จ่ายเงินตามเช็คเกินจำนวนเงินที่ลูกหนี้ (จำเลยที่ 3) มีอยู่ในบัญชี 109,733.28 บาท แล้วธนาคารเจ้าหนี้ได้คิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ (จำเลยที่ 3) ในอัตราร้อยละ 19 โดยวิธีทบต้นตามประเพณีของธนาคารนับแต่วันที่ธนาคารเจ้าหนี้ได้จ่ายเงินเกินบัญชีไป ซึ่งปรากฏว่าตามการ์ดบัญชี เอกสารหมาย จ.4 ลูกหนี้ (จำเลยที่ 3) เป็นหนี้ธนาคารเจ้าหนี้ทั้งสิ้น 235,923.28 บาท
คงมีปัญหาตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ข้อตกลงระหว่างธนาคารเจ้าหนี้กับลูกหนี้ (จำเลยที่ 3) ในการที่ลูกหนี้ (จำเลยที่ 3) ขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่ธนาคารเจ้าหนี้จะคิดดอกเบี้ยโดยวิธีทบต้นตามประเพณีของธนาคารได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติลักษณะของสัญญาบีญชีเดินสะพัดไว้ในมาตรา 856 ว่า ‘ฯลฯ คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่งให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค’ แต่ตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันของลูกหนี้ (จำเลยที่ 3) เอกสารหมาย จ.3 ไม่ปรากฏว่าคู่สัญญาตกลงให้มีการตัดทอนบัญชีหนี้สินระหว่างกันแต่ประการใด ทั้งคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวัน เอกสารหมาย จ.3 ข้อ 30 ที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยนั้น ก็เป็นเรื่องการฝาและการถอนเงินในบัญชีกระแสรายวันเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องการตัดทอนบัญชีอันมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ส่วนการที่ธนาคารเจ้าหนี้จ่ายเงินตามเช็คเกินจำนวนเงินในบัญชีของลูกหนี้ (จำเลยที่ 3) ก็มีเงื่อนไขการรับเป็นบัญชีกระแสรายวันตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 18 ระบุว่า ‘ถ้าบัญชีของผู้ฝากมีเงินไม่พอจ่ายตามเช็ค ฯลฯ หากธนาคารจ่ายเงินตามเช็คให้เกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีของผู้ฝากไป ผู้ฝากยอมใช้เงินส่วนที่ธนาคารจ่ายเกินบัญชีนั้นให้ธนาคาร พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามกฎหมาย ฯลฯ’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ธนาคารเจ้าหนี้ตกลงให้ลูกหนี้ (จำเลยที่ 3) เบิกเงินเกินบัญชีอันจะใช้บัญชีกระแสรายวันเป็นบัญชีเดินสะพัดในการหักทอนบัญชี ข้อตกลงในการเปิดบัญชีกระแสรายวัน ตามเอกสารหมาย จ.3 ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ทั้งรูปคดีทำนองเดียวกันนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นแบบอย่างตามคำพิพากษาฎีกาที่กล่าวถึงมาแล้วข้างต้น กับคำพิพากษาฎีกาที่ 3351/2527 ระหว่าง บริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด โจทก์ นายธาตรี ลีธีระประเสริฐ จำเลย ว่าไม่ใช่เรื่องการกู้ยืมเงิน หรือทำสัญญาบัญชีเดินสะพัด หรือการค้าอย่างอื่นทำนองเดียวกัน ดังนั้น ธนาคารเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยทบต้นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
มีปัญหาตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อไปว่า ธนาคารเจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ (จำเลยที่ 3) ในอัตราใดปรากฏตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวัน ข้อ 18 เอกสารหมาย จ.3 ว่าผู้ฝากยอมให้ดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามกฎหมาย มิได้กำหนดอัตราที่แน่นอนไว้โดยนิติกรรม และไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงว่าให้คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราเท่าใด กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ที่ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่เห็นว่า ธนาคารเจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้และคิดได้ในอัตราต่าง ๆกัน ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังขึ้น’
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น.

Share