คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันสั่งสินค้าของโจทก์มาจำหน่ายยังค้างชำระราคาสินค้าโจทก์อยู่ จำเลยที่ 1ปฏิเสธว่าไม่ได้สั่งซื้อ จำเลยที่ 2 ให้การว่าได้สั่งซื้อในนามของจำเลยที่ 1 ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินค้าที่ค้างชำระจำนวนหนึ่งแก่โจทก์จำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา คดียุติชั้นศาลอุทธรณ์ จำเลยที่1 จะฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ค้างชำระค่าสินค้าโจทก์อยู่เพียง2 หมื่นบาทเศษ หาได้ไม่ เพราะตนมิได้ต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การ
จำเลยที่ 2 ติดต่อสั่งซื้อสินค้าหลายรายการหลายครั้งจากโจทก์ขณะเป็นผู้จัดการจำเลยที่ 1 และได้กระทำในนามของจำเลยที่ 1 โดยลงชื่อในตำแหน่งผู้จัดการจำเลยที่ 1กับได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ในเอกสารต่างๆทุกฉบับ ถือว่าได้ซื้อในนามหรือแทนจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่จะต้องชำระราคาที่ค้างชำระอยู่แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จะยกเอาคำสั่งภายในที่โจทก์ไม่รู้มายันโจทก์เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
หมายเหตุในใบส่งของของโจทก์ระบุให้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดกรุงเทพนั้นเป็นข้อความที่โจทก์พิมพ์ไว้แต่ฝ่ายเดียวไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ตกลงด้วย จึงไม่ใช่ข้อตกลงที่จะผูกพันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา7(4) โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนครปฐมซึ่งจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจได้ตามมาตรา 4(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวได้ตกลงซื้อเครื่องยนต์ชนิดและขนาดต่าง ๆ จากโจทก์หลายรายการและค้างชำระราคาอยู่ 7 หมื่นบาทเศษ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินที่ค้างพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่าไม่เคยซื้อสินค้าจากโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการจำเลยที่ 1 มีอำนาจสั่งสินค้ามาจำหน่ายได้คราวละไม่เกินวงเงิน 10,000 บาท โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกจากจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้แทนช่วงจำหน่ายสินค้าให้โจทก์ที่มาฝากขาย เก็บเงินได้เท่าใดจำเลยที่ 2 ก็ส่งให้โจทก์เท่านั้นคงค้างอยู่อีก 20,396 บาทเท่านั้น จำเลยที่ 2 มิได้ซื้อสินค้าไว้ จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าดอกเบี้ยแก่โจทก์ ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ในการจัดจำหน่ายสินค้าไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าสินค้าที่ค้าง 20,396 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 สั่งซื้อสินค้าในนามของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดร่วมด้วย และฟังว่ายังค้างชำระอยู่ 64,534 บาท พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ค้างชำระค่าสินค้าอยู่เพียง 20,396 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษานั้น ปรากฏว่าปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่ปัญหาที่จำเลยที่ 1 ได้ยกขึ้นว่ามาแล้วในศาลชั้นต้น ฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

สำหรับปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 ทำในนามของจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้นปรากฏว่าจำเลยที่ 2 สั่งซื้อสินค้าขณะเป็นผู้จัดการจำเลยที่ 1 และลงชื่อในตำแหน่งผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และประทับตราของจำเลยที่ 1 ในเอกสารต่าง ๆ ทุกฉบับประกอบกับคำเบิกความของพยานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำในนามหรือแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่จะต้องชำระราคาที่ค้างชำระอยู่แก่โจทก์จำเลยที่ 1 จะยกเอาเหตุที่จำเลยที่ 2 ปฏิบัติเรื่องการซื้อขายผิดข้อบังคับซึ่งเป็นเรื่องภายในขึ้นยันโจทก์เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าปรากฏในใบส่งของที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลมีระบุไว้ในช่องหมายเหตุว่าการฟ้องคดีให้ฟ้องที่ศาลจังหวัดกรุงเทพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องที่ศาลจังหวัดนครปฐมนั้นเห็นว่า ตามที่ปรากฏในใบส่งของดังกล่าวเป็นข้อความที่ฝ่ายโจทก์พิมพ์ไว้แต่ฝ่ายเดียวไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับตกลงด้วย จึงไม่ใช่ข้อตกลงที่จะผูกพันกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7(4) เขตอำนาจศาลยังคงเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดนครปฐมซึ่งจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจได้ฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 นอกจากที่ได้วินิจฉัยมาแล้วล้วนไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

พิพากษายืน

Share