แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ตรวจค้นพบสินค้าของกลางไม่มีเครื่องหมายเลขหีบห่อซุกซ่อนอยู่ที่บ้านโจทก์จึงยึดสินค้าไป โจทก์ส่งหลักฐานว่าซื้อสินค้าจากร้าน อ. พร้อมแนบสำเนาใบเสร็จรับเงินให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากที่จำเลยที่ 2 ยึดของกลางไปเดือนเศษเป็นพฤติการณ์ที่ส่อว่าอาจจะไม่ได้ซื้อจากร้าน อ. เมื่อดูพฤติการณ์โจทก์ประกอบกับสินค้าของกลางที่ไม่มีเครื่องหมายหรือเลขหมายหีบห่อ เป็นเหตุอันควรสงสัยว่าของกลางเป็นสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เสียภาษี การที่จำเลยที่ 2 ไปยึดสินค้าของกลางและจำเลยที่ 1 ได้แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่โจทก์ เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายให้อำนาจไว้ มิใช่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อที่จะทำให้โจทก์เสียหาย จึงมิใช่เป็นการละเมิดเมื่อจำเลยที่ 1 แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจได้สอบสวนและส่งให้พนักงานอัยการฟ้องโจทก์ต่อศาลในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด จำเลยที่ 1 มีอำนาจที่จะยึดสินค้าของกลางตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดเช่นกัน จำเลยที่ 1 เก็บรักษาของกลางไว้เป็นเวลาเกือบ 4 ปี ไม่ปรากฏว่าจะทำให้สินค้าเป็นสนิมหรือเสื่อมสภาพแต่อย่างใด ถึงแม้จะหน่วงช้าไว้อีกก็ไม่เป็นการเสี่ยงความเสียหาย ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1ขายสินค้าของกลางไปหลังจากศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้จำเลยคืนสินค้าของกลางให้โจทก์จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 25 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนหรือใช้ราคาสินค้าของกลางตามที่เป็นจริง ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้เกี่ยวข้องในการขายทอดตลาดจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุคดีนี้ดำรงตำแหน่งสารวัตรศุลกากร โจทก์ประกอบกิจการค้าขายส่งและขายปลีกเครื่องไฟฟ้าประเภทเครื่องรับวิทยุและโทรทัศน์ โจทก์ได้ซื้อสินค้าแผงวงจรพร้อมอุปกรณ์และลำโพงเครื่องรับโทรทัศน์ จำนวน 99 ชุด กับแผงวงจรพร้อมอุปกรณ์รีโมทคอนโทรลและลำโพงเครื่องรับโทรทัศน์ จำนวน 1 ชุดรวม 100 ชุด ราคา 435,000 บาท จำเลยที่ 2 กับพวกได้ทำการตรวจค้นสินค้าของโจทก์ แล้วกล่าวหาว่าเป็นสินค้าที่ได้มาโดยการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร โจทก์แจ้งให้ทราบความจริงแล้ว จำเลยที่ 2ก็ยังคงยึดสินค้าพร้อมควบคุมตัวโจทก์ไป โจทก์ได้นำใบเสร็จรับเงินอันเป็นหลักฐานซื้อขายแสดงต่อจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1สั่งคืนสินค้าแล้ว แต่จำเลยที่ 1 กับพวกเพิกเฉย จำเลยที่ 1ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญา คดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้จำเลยที่ 1คืนสินค้าของกลางทั้งหมดให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 คืนสินค้าแก่โจทก์ตามคำพิพากษา แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยการกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1คืนสินค้าของกลางให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน435,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายจำนวน 8,930,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงภาษีอากรมิได้ละเมิดต่อโจทก์สินค้าของกลางเสื่อมสภาพไปตามอายุการเก็บรักษา จำเลยที่ 1จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 25 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 ขายทอดตลาดของกลางไปก่อนเพื่อถือเงินไว้อันเป็นประโยชน์แก่โจทก์เอง ได้เงินจากการขายทอดตลาดทั้งสิ้น 135,150 บาทเมื่อศาลฎีกาพิพากษาให้คืนของกลางแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์มารับเงินที่ขายของกลางให้ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาทั้งหมดนั้น มิใช่ค่าเสียหายที่โจทก์จะเรียกร้องได้ตามกฎหมาย เพราะเป็นการเรียกร้องที่ไกลกว่าเหตุ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน264,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่25 ธันวาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เบื้องต้นจะได้วินิจฉัยฎีกาโจทก์ที่ว่าจำเลยทั้งสองยึดและไม่คืนสินค้าเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ทราบว่ามีสินค้าหลบหนีภาษีซุกซ่อนอยู่ที่บ้านดังกล่าวก็ได้ไปทำการตรวจค้นพบแผงวงจรโทรทัศน์ 100 ชุดบรรจุอยู่ในกล่องสีน้ำตาลโดยไม่มีเครื่องหมายหรือเลขหมายหีบห่อจำเลยที่ 2 สันนิษฐานว่าเป็นสินค้าที่หลบหนีภาษี เพราะสินค้าทุกชนิดที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามประมวลข้อบังคับศุลกากรต้องสำแดงเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อให้ตรงกันกับที่ปรากฏในบัญชีราคาสินค้าหรือตามที่เป็นจริงเมื่อสินค้าของกลางที่พบไม่มีเครื่องหมายหรือเลขหมายหีบห่อเช่นนี้ในเบื้องต้นมีเหตุอันควรสงสัยว่าสินค้าดังกล่าวจะนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เสียภาษี จำเลยที่ 2จึงยึดสินค้าไป และให้โจทก์นำหลักฐานไปแสดง ครั้นวันที่ 25 มกราคม2525 โจทก์ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดโดยอ้างว่าได้ซื้อมาโดยเปิดเผย ในหนังสือดังกล่าวไม่มีรายละเอียดว่าโจทก์ได้ซื้อมาจากที่ใด ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2525โจทก์จึงได้ส่งหลักฐานว่าซื้อจากร้านอิ้วโง้วพานิช พร้อมกับแนบสำเนาใบเสร็จรับเงินด้วย หลักฐานที่โจทก์ส่งให้จำเลยที่ 1เป็นเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 2 ยึดของกลางไปเดือนเศษ เป็นพฤติการณ์ที่ส่อว่าอาจจะไม่ได้ซื้อจากร้านอิ้วโง้วพานิช เมื่อดูพฤติการณ์โจทก์ประกอบกับสินค้าของกลางที่ไม่มีเครื่องหมายหรือเลขหมายหีบห่อเป็นเหตุอันควรสงสัยว่าของกลางเป็นสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เสียภาษี จำเลยที่ 1 ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองตั้งแต่ไปตรวจค้นยึดของกลางจนถึงแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายให้อำนาจไว้ มิใช่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อที่จะทำให้โจทก์เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่เป็นการละเมิด เมื่อจำเลยที่ 1 แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจได้สอบสวนและส่งให้พนักงานอัยการฟ้องโจทก์ต่อศาลในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุดจำเลยที่ 1 มีอำนาจที่จะยึดสินค้าของกลางไว้การที่จำเลยที่ 1 ไม่คืนของกลางให้โจทก์ในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด จึงเป็นการกระทำตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดเช่นเดียวกันที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นละเมิดแล้วไม่จำต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าเสียหายของโจทก์ในส่วนนี้ ส่วนฎีกาโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายในการคืนหรือใช้ราคาสินค้าของกลางจะได้วินิจฉัยพร้อมฎีกาจำเลยที่ 1
ฎีกาโจทก์ประการสุดท้ายเกี่ยวกับอายุความ ประเด็นนี้มิได้ว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
สำหรับฎีกาจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับค่าเสียหายในการคืนหรือใช้ราคาสินค้าของกลางที่ศาลอุทธรณ์ให้ชดใช้ 264,650 บาท โดยฎีกาว่าแผงวงจรโทรทัศน์แปรเปลี่ยนปรับปรุงอยู่เสมอและอาจเสื่อมไปตามอายุการเก็บรักษา หากหน่วงช้าไว้เป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจขายทอดตลาดสินค้าไปก่อนได้ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 25 วรรคสอง เมื่อขายทอดตลาดได้เงิน135,150 บาท โจทก์ควรรับคืนเท่าที่ขายได้ ส่วนโจทก์ฎีกาในประเด็นข้อนี้ว่าโจทก์ซื้อสินค้าของกลางมาในราคา 435,000 บาท จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้ให้โจทก์ตามจำนวนดังกล่าว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าสินค้าของกลางมิใช่ของเสียง่าย มีอายุการใช้งานนับ 10 ปี จำเลยที่ 1เก็บไว้ในโกดังของจำเลยที่ 1 เอง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำเรื่องเสนอขายโดยอ้างว่าเป็นสินค้าตกรุ่นความจริงสินค้าของกลางไม่มีการตกรุ่น เพราะเครื่องรับโทรทัศน์แต่ละรุ่นแตกต่างกันที่ตู้และชื่อที่ตั้งขึ้นเท่านั้น ส่วนแผงวงจรโทรทัศน์จะใช้กับรุ่นใดก็ได้ คำสั่งจำเลยที่ 1 ให้ขายของกลางเป็นการกระทำโดยมิชอบเพราะโจทก์ซื้อสินค้าดังกล่าวเป็นทอดที่ 3หรือที่ 4 แล้ว และสินค้าของกลางโจทก์ซื้อมาในราคา 435,000 บาทจำเลยทั้งสองต้องชดใช้ในราคาดังกล่าว
จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ขายสินค้าของกลางไปโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 25 วรรคสองเพราะเห็นว่าหากเก็บไว้นานจะเสื่อมสภาพได้เพราะห้องเก็บสินค้ามีความชื้นสูงและร้อนจัดของกลางอาจเกิดสนิมได้หากเก็บไว้นานเกินกว่า1 ปี สินค้าของกลางเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้ามีอายุการใช้งานจำกัดมีแบบใหม่รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดเรื่อย ทำให้เสื่อมราคาลง สินค้าของกลางมีการขายทอดตลาด 12 ครั้ง เพราะไม่มีผู้สนใจสู้ราคาและให้ราคาต่ำ การขายทอดตลาดได้ราคาที่สูงพอสมควรแล้ว โจทก์ควรจะได้รับเงินเท่าราคาที่ขายได้เป็นเงิน 135,150 บาท จำเลยที่ 2มิได้เกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาด เพียงแต่เคยให้ความเห็นแก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบว่าของกลางเก็บไว้นานจะตกรุ่นและราคาจะตกลงเรื่อย ๆ
พิเคราะห์แล้ว เบื้องต้นจะได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ขายสินค้าของกลางไปชอบหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 จะมีอำนาจขายสินค้ารายนี้ต้องอาศัยมาตรา 25 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าของที่ยึดไว้นั้นเป็นของเสียง่ายหรือหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะมากเกินสมควร อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายจะสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นตามที่เห็นสมควรก่อนที่ของนั้นจะตกเป็นของแผ่นดินก็ได้ เงินค่าขายของนั้นเมื่อได้หักค่าใช้จ่ายและค่าภาระติดพันทั้งปวงออกแล้ว ให้ถือไว้แทนของ”การที่จำเลยที่ 1 ได้ขายทอดตลาดสินค้าของกลางรายนี้โดยอ้างว่าถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย เนื่องจากแผงวงจรโทรทัศน์มีรุ่นใหม่ออกมาเสมอ ทำให้สินค้าของกลางตกรุ่นและเก็บไว้นานจะเสื่อมสภาพลงทุกวัน พยานจำเลยมีนายชูโชค ง้าวเทพพิทักษ์เบิกความว่า ประเทศไทยมีความชื้นสูง ห้องเก็บสินค้ามีความชื้นสูงและร้อนจัด แผงวงจรไฟฟ้าอาจเกิดสนิมได้ถ้าเก็บไว้เกิน 1 ปีนอกจากนี้เครื่องไฟฟ้าแต่ละชนิดยังมีอายุการใช้งาน อาจมีแบบใหม่ ๆออกสู่ท้องตลาด ทำให้รุ่นเก่าตกราคา ตามคำพยานดังกล่าวเพียงแต่เห็นว่าสินค้าของกลางอาจเกิดสนิมได้ถ้าเก็บไว้เกิน 1 ปีไม่พอฟังว่าสินค้าของกลางรายนี้เกิดสนิม เมื่อพิจารณาพยานโจทก์มีนายสุรศักดิ์ โพธินันทอง และนายสุมิตร พัตรลิดานนท์ต่างเบิกความว่า แผงวงจรโทรทัศน์ที่ถูกยึดเป็นของกลางจะไม่ตกรุ่นเพราะสามารถนำไปประกอบกับรุ่นใหม่ได้ รุ่นของโทรทัศน์อาจจะเปลี่ยนรูปแบบของตู้ คือเป็นคนละรุ่น แต่เครื่องภายในเหมือนเดิมและสามารถใช้งานได้ถึง 10 ปี เชื่อได้ว่าสินค้าของกลางใช้งานได้นานและสามารถเอาใช้กับโทรทัศน์รุ่นใดก็ได้ ประกอบกับคดีนี้ได้มีการยึดสินค้าของกลางเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2524 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้จำเลยคืนสินค้าของกลางให้โจทก์ตามคำเบิกความของโจทก์ได้อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2527 และได้มีการขายทอดตลาดสินค้ารายนี้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2528 ตามเอกสารหมายล.2 จำเลยที่ 1 เก็บรักษาไว้เป็นเวลาเกือบ 4 ปี ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานว่าจะทำให้สินค้าเป็นสนิมหรือเสื่อมสภาพแต่อย่างใดถึงแม้จะหน่วงช้าไว้อีกก็ไม่เป็นการเสี่ยงความเสียหาย การที่จำเลยที่ 1 ขายสินค้าของกลางไปจึงไม่ชอบตามมาตรา 25 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จึงต้องคืนหรือใช้ราคาสินค้าของกลางตามที่เป็นจริง ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้เกี่ยวข้องในการขายทอดตลาด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับราคาสินค้าโจทก์นำสืบว่าซื้อมาในราคา 435,000 บาท จำเลยที่ 1 กำหนดราคาประเมิน390,459.78 บาท ราคาขายทอดตลาดได้ 135,150 บาท เห็นได้ว่าราคาที่โจทก์อ้างว่าซื้อมากับราคาประเมินใกล้เคียงกัน ฉะนั้นราคาสินค้าควรจะเป็นราคา 390,459.78 บาท ถึง 435,000 บาท เห็นว่าราคาที่กำหนดสำหรับการประเมินเป็นราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้า โดยไม่ได้หักทอนหรือลดหย่อนราคาแต่อย่างใด จึงเป็นราคาของเพื่อเรียกเก็บภาษีมิได้รวมถึงค่าอากรด้วย แต่สินค้าดังกล่าวไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าโจทก์ได้ซื้อมาจากต่างประเทศถือว่าโจทก์ซื้อในราชอาณาจักร ผู้ขายย่อมจะขายให้ได้กำไร ราคาย่อมสูงกว่าราคาประเมินแน่นอน ที่โจทก์นำสืบว่าราคาที่แท้จริง 435,000 บาท สูงกว่าราคาประเมินไม่มากเชื่อได้ว่าโจทก์ซื้อสินค้าของกลางมาในราคา 435,000 บาท จำเลยที่ 1ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว แต่โจทก์รับไปแล้ว 135,350 บาทที่จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์อีก 299,650 บาท ฎีกาจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 299,650 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์