คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2238/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ม. และ อ. ร่วมกันลงชื่อท้ายคำร้องในฐานะผู้แทนของผู้ร้องและร่วมกันลงชื่อแต่งตั้งให้ ส. เป็นทนายความมีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาและดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ แทนผู้ร้องด้วยแม้ว่า ม. จะลงชื่อในฐานะผู้เรียงและพิมพ์คำร้องแต่ผู้เดียวเมื่อ ส. ยื่นฎีกาแทนผู้ร้องจึงถือว่าเป็นฎีกาของผู้ร้องหาใช่เป็นฎีกาของ ม. เป็นการส่วนตัวไม่
เงินค่าหุ้นแม้จะเป็นทุนสำรองของผู้ร้อง แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังมีสิทธิเรียกเอาคืนได้เพราะจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระเงินค่าหุ้นดังกล่าว ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของผู้ร้องมิใช่กฎหมาย เป็นระเบียบภายในที่ใช้บังคับระหว่างผู้ร้องกับสมาชิก ไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา การอายัดเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน แต่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องศาลชั้นต้นอนุญาต จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์จำเลยที่ ๒ ไม่ชำระโจทก์ขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดอายัดทรัพย์ของจำเลยที่ ๒ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดเงินค่าหุ้นสะสมของจำเลยที่ ๒ ที่มีอยู่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูตรัง จำกัด จำนวน ๑๕,๘๑๐ บาท และได้แจ้งการอายัดให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูตรัง จำกัด ทราบ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ข้อบังคับของผู้ร้อง ผู้ร้องถือว่าเงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ ๒ ชำระแก่ผู้ร้องเป็นเงินทุนของผู้ร้อง ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ถอนหุ้นขณะยังเป็นสมาชิกไม่ได้ และจำเลยที่ ๒ ได้กู้เงินสามัญจากผู้ร้อง ยังมีหนี้สามัญค้างชำระอยู่อีก ๑๘,๔๐๐บาท ซึ่งค่าหุ้นของจำเลยที่ ๒ จำนวน ๑๕,๘๑๐ บาทยังอยู่ในภาระประกันหนี้ดังกล่าว จึงไม่มีเงินค่าหุ้นเหลืออยู่ให้อายัดได้ สภาพของใบหุ้นของผู้ร้อง สมาชิกจะขายหรือโอนหุ้นซึ่งตนถือให้ผู้อื่นไม่ได้ กรณีสมาชิกลาออก เมื่อรับเงินค่าหุ้นคืน ต้องเวนคืนใบหุ้นให้ผู้ร้องทั้งสิ้น ขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขหมายบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดใบหุ้นของจำเลยที่ ๒ แต่ประการเดียว
โจทก์คัดค้านว่า เงินค่าหุ้นของจำเลยที่ ๒ ที่มีอยู่ที่ผู้ร้องเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของจำเลยที่ ๒ เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดอายัดเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ ๒ ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ข้อบังคับของผู้ร้องเป็นเพียงข้อบังคับภายในระหว่างสมาชิกผู้ถือหุ้นกับผู้ร้องเท่านั้น จะนำมาใช้บังคับกับบุคคลภายนอกไม่ได้ นายมนัส พิทักษ์ ไม่ได้เป็นผู้แทนผู้ร้อง จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…โจทก์เป็นฝ่ายเข้าใจผิดเพราะตามคำร้องของผู้ร้องระบุชัดว่าเป็นคำร้องของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูตรัง จำกัด โดยนายมนัส พิทักษ์ และนายอำพร ข่ายม่าน ทั้งท้ายคำร้องบุคคลทั้งสองนี้ก็ร่วมกันลงชื่อในฐานะผู้แทนของผู้ร้อง เพียงแต่นายมนัสลงชื่อในฐานะผู้เรียงและพิมพ์แต่ผู้เดียว นอกจากนี้บุคคลทั้งสองดังกล่าวยังลงชื่อร่วมกันแต่งตั้งให้หนายสมศักดิ์ พงษ์พูลผลศักดิ์ เป็นทนายความมีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาและดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ แทนผู้ร้องด้วย ดังนั้น เมื่อนายสมศักดิ์ยื่นฎีกาแทนผู้ร้องจึงถือว่าเป็นฎีกาของผู้ร้อง หาใช่เป็นฎีกาของนายมนัสเป็นการส่วนตัวดังที่โจทก์แก้ฎีกาไม่ อนึ่ง ที่โจทก์แก้ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าฎีกาของผู้ร้องเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของผู้ร้องไม่ใช่ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังที่โจทก์กล่าวอ้างแต่เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายทั้งสิ้น
สำหรับฎีกาของผู้ร้องที่ว่า เงินค่าหุ้นของจำเลยที่ ๒ ป็นทรัพย์สินของผู้ร้องที่จะต้องเป็นทุนในการดำเนินธุรกิจตามวัตถุประสงค์ของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้เงินค่าหุ้นของจำเลยที่ ๒ จะเป็นเงินทุนของผู้ร้อง แต่จำเลยที่ ๒ ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ทั้งเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ ๒ ก็เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ เพราะจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ชำระเงินค่าหุ้นดังกล่าว ข้อบังคับต่าง ๆ ของผู้ร้องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนคดีของผู้ร้องนั้นมิใช่กฎหมาย แต่เป็นระเบียบภายในที่ใช้บังคับระหว่างผู้ร้องกับสมาชิก หามีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ ๒ จึงชอบแล้วคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share