คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1036/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในปี 2474 หรือ 2475 โจทก์ได้หนีตามชายชู้ไป และได้ชายอื่นเป็นสามีอีกหลายคน ส่วนสามีก็ได้ภรรยาใหม่หลายคน โจทก์กับสามีไม่ได้เกี่ยวข้องกันฉันสามีภรรยานับแต่นั้นเป็นต้นมา จนสามีถึงแก่กรรมและมูลกรณีดังว่านี้เกิดก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และ 6 จึงต้องปรับบทตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น พฤติการณ์ของโจทก์กับสามีจึงถือได้ว่าได้สละละทิ้งหย่าขาดกันตามกฎหมายลักษณะผัวเมียไปก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และ 6 แล้ว โจทก์จึงไม่ได้เป็นทายาทของสามีและไม่มีสิทธิรับมรดก
บิดาของสามียกที่ดินให้สามีโดยไม่ได้โอนกันทางทะเบียน เป็นการยกให้ที่ยังไม่สมบูรณ์ ตามกฎหมายสามีจะได้กรรมสิทธิ์ก็ต่อเมื่อได้ครอบครองมาเป็นเวลา 10 ปี ในระหว่างที่สามีครอบครองที่ดินนั้นมายังไม่ครบ 10 ปี โจทก์กับสามีได้หย่าขาดกันเสียก่อนหลายปีแล้ว ที่ดินนั้นจึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับสามี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายทองคำสามีโจทก์ตาย จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของสามีโจทก์ จำเลยไม่แบ่งสินสมรสและมรดกให้โจทก์ตามที่โจทก์มีส่วนได้จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นมารดา และจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายทองคำจริง เมื่อโจทก์แต่งงานกับนายทองคำโจทก์จะมีสินเดิมหรือไม่ไม่ทราบ โจทก์กับนายทองคำได้แยกกันอยู่และโจทก์ได้มีสามีใหม่ ทรัพย์สินของนายทองคำที่มีอยู่เมื่อตายไม่ใช่สินสมรส ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโดยเหตุว่าโจทก์ได้หย่าขาดกับนายทองคำตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ ๕๑ ทรัพย์ที่นายทองคำได้มาภายหลังหย่าขาดกับโจทก์ไม่ใช่สินสมรส โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งทั้งสินสมรสและมรดก
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์กับนายทองคำเป็นสามีภรรยากันก่อนวันประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างโจทก์กับนายทองคำ จึงตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายลักษณะผัวเมีย โจทก์เคยฟ้องหย่ากับนายทองคำ ศาลพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์หนีตามชายชู้ไป และได้ชายอื่นเป็นสามีอีกหลายคน ส่วนนายทองคำเมื่อโจทก์หนีไปแล้วก็ได้ภรรยาใหม่หลายคน โจทก์กับนายทองคำไม่ได้เกี่ยวข้องกันฉันสามีภรรยานับแต่นั้นจนนายทองคำถึงแก่กรรม มูลกรณีดังกล่าวนี้เกิดก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ จึงต้องปรับบทตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น พฤติการณ์ของโจทก์กับนายทองคำจึงถือได้ว่าได้สละละทิ้งหย่าขาดกันตามกฎหมายลักษณะผัวเมียไปก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และ ๖ แล้ว โจทก์จึงไม่ได้เป็นทายาทของนายทองคำและไม่มีสิทธิรับมรดก ที่โจทก์ฎีกาว่าที่ดินโฉนดที่ ๕๙๐๗ บิดานายทองคำยกให้เมื่อแต่งงานกับโจทก์แล้วสองเดือน นายทองคำกับโจทก์ได้ครอบครองมา เมื่อโจทก์แยกไป นายทองคำครอบครองตลอดมา จึงเป็นสินสมรส เห็นว่า การยกที่ดินให้นี้ไม่ได้โอนกันทางทะเบียน เป็นการยกให้ที่ยังไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย นายทองคำจะได้กรรมสิทธิ์ก็ต่อเมื่อได้ครอบครองมาเป็นเวลา ๑๐ ปี ก่อนครบ ๑๐ ปี โจทก์กับนายทองคำได้หย่าขาดกันไปนานแล้ว ที่ดินนี้จึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายทองคำ ส่วนที่ดินโฉนดที่ ๔๓๖๘ นั้น บิดานายทองคำได้โอนให้ทางทะเบียนภายหลังที่โจทก์ได้หย่าขาดจากนายทองคำแล้ว จึงไม่เป็นสินสมรสอีก
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

Share