คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4786/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลย ต่างเป็นรูปปลาโลมาที่มีลักษณะกระโจนตัวลอย ลำตัวโค้ง หัวปลาอยู่ทางซ้ายและหางปลาอยู่ทางขวาแบบเดียวกัน มีขนาดใกล้เคียงกัน ต่างใช้กับสินค้าพื้นรองเท้ายางที่ผลิตออกจำหน่าย ซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน แม้ โจทก์และจำเลยจะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ใช้กับสินค้าคนละจำพวก กล่าวคือโจทก์ใช้กับสินค้าจำพวก 40 พื้นรองเท้ายาง ส่วนจำเลยใช้กับสินค้าจำพวก 50 พื้นรองเท้าก็ตาม แต่ ก็เป็นสินค้าชนิดเดียวกันคือพื้นรองเท้ายางดังกล่าว แม้รูปตัว ปลาโลมาตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์มีสีดำทึบ ส่วนรูปตัวปลาโลมาตาม คำขอจดทะเบียนของจำเลยเป็นตัวปลาโปร่งมีลาย เส้นประ ตาม ลำตัวปลาก็ตาม แต่เมื่อใช้หล่อติดเป็นเครื่องหมายการค้ากับพื้น รองเท้ายางแล้วย่อมจะไม่ปรากฏให้เห็นสีของตัวปลาว่าแตกต่างกัน อย่างไร นอกจากนี้ ในการเรียกขาน สินค้าที่โจทก์และจำเลยผลิตออก จำหน่ายนั้นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายย่อมจะเรียกกันว่าพื้นรองเท้าตรา ปลาโลมาเท่านั้น ความสำคัญที่เด่นชัดของเครื่องหมายการค้าของ โจทก์และของจำเลยจึงอยู่ที่ตัวปลาโลมา แม้จะมีตัวหนังสืออักษรโรมัน ซึ่งมีตัวสะกดและอ่านออกเสียงแตกต่างกันโดยของโจทก์ใช้คำว่า DOLPHIN ส่วนของจำเลยใช้คำว่า PORPOISE แต่ก็ปรากฏว่ามี คำแปลอย่างเดียวกันว่าปลาโลมาอักษรโรมันที่เป็นตัวหนังสือดังกล่าว จึงเป็นเพียงส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าที่มีความสำคัญน้อยกว่า รูปตัวปลาโลมาเป็นอันมากเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวมีลักษณะ ทำนองเดียวกันอันอาจทำให้ประชาชนทั่วไปหลงผิดได้ว่า สินค้า ของโจทก์และจำเลยเป็นสินค้าของเจ้าของเดียวกัน ดังนี้ กรณีจึงถือ ได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกันจนถึง นับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน แม้โจทก์จะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน โจทก์จึง ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นอันเป็น การฟ้องคดีเพื่อป้องกันการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่ จดทะเบียนได้ ทั้งนี้เพราะต้องห้ามตาม มาตรา 29 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าฯกรณีจึงไม่อาจบังคับตามคำขอท้ายฟ้อง ของโจทก์ที่ให้ห้ามจำเลยดังกล่าวได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปปลาโลมาและอักษรโรมันคำ DOLPHIN กับสินค้าพื้นรองเท้ายางที่ผลิตส่งไปขายตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2525 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2525 โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในสินค้าจำพวก 40พบว่าจำเลยใช้เครื่องหมายการค้ารูปปลาโลมาในลักษณะกระโจนตัวลอยลำตัวโค้ง หัวปลาอยู่ทางซ้าย หางปลาอยู่ทางด้านขวาเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน2525 ในสินค้าจำพวก 50 สำหรับสินค้าพื้นรองเท้ายาง ขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้ารูปปลาโลมากับสินค้ารองเท้ายางอีกต่อไปให้จำเลยทำลายสินค้าที่มีรูปเครื่องหมายการค้ารูปปลาโลมาและถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอที่ 124590
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการผลิตพื้นรองเท้ายางใช้เครื่องหมายการค้ารูปปลาโลมา และใช้อักษรว่า PORPOISEออกจำหน่ายก่อนโจทก์ โจทก์ได้ไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปปลาโลมาเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 124590 จากกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้ากรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้ารูปปลาโลมากับสินค้าพื้นรองเท้ายาง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประเด็นข้อแรกตามฎีกาจำเลยคือเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ขอจดทะเบียนไว้นั้นเหมือนหรือคล้ายกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลย ต่างเป็นรูปปลาโลมาที่มีลักษณะกระโจนตัวลอย ลำตัวโค้งหัวปลาอยู่ทางซ้ายและหางปลาอยู่ทางขวาแบบเดียวกัน มีขนาดใกล้เคียงกัน ต่างใช้กับสินค้าพื้นรองเท้ายางที่ผลิตออกจำหน่ายซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน แม้โจทก์และจำเลยจะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวใช้กับสินค้าคนละจำพวก กล่าวคือโจทก์ใช้กับสินค้าจำพวก 40 พื้นรองเท้ายาง ส่วนจำเลยใช้กับสินค้าจำพวก 50 พื้นรองเท้าก็ตาม แต่ก็เป็นสินค้าชนิดเดียวกันคือพื้นรองเท้ายางดังกล่าว แม้รูปตัวปลาโลมาตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์มีสีดำทึบ ส่วนรูปตัวปลาโลมาตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยเป็นตัวปลาโปร่งมีลายเส้นประตามลำตัวปลาก็ตาม แต่เมื่อใช้หล่อติดเป็นเครื่องหมายการค้ากับพื้นรองเท้ายางแล้วย่อมจะไม่ปรากฏให้เห็นสีของตัวปลาว่าแตกต่างกันอย่างไร นอกจากนี้ ในการเรียกขานสินค้าที่โจทก์และจำเลยผลิตออกจำหน่ายนั้น ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายย่อมจะเรียกกันว่าพื้นรองเท้าตราปลาโลมาเท่านั้น ความสำคัญที่เด่นชัดของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยจึงอยู่ที่ตัวปลาโลมา แม้จะมีตัวหนังสืออักษรโรมันซึ่งมีตัวสะกดและอ่านออกเสียงแตกต่างกันโดยของโจทก์ใช้คำว่า DOLPHIN ส่วนของจำเลยใช้คำว่า PORPOISE แต่ก็ปรากฏว่ามีคำแปลอย่างเดียวกันว่าปลาโลมานั่นเอง อักษรโรมันที่เป็นตัวหนังสือดังกล่าวจึงเป็นเพียงส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าที่มีความสำคัญน้อยกว่ารูปตัวปลาโลมาเป็นอันมาก เครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวมีลักษณะทำนองเดียวกันอันอาจทำให้ประชาชนทั่วไปหลงผิดได้ว่าสินค้าของโจทก์และจำเลยเป็นสินค้าของเจ้าของเดียวกัน ดังนี้กรณีจึงถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน และฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย อย่างไรก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้ารูปปลาโลมากับสินค้าพื้นรองเท้ายางนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นอันเป็นการฟ้องคดีเพื่อป้องกันการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่จดทะเบียนได้ ทั้งนี้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 29 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 กรณีจึงไม่อาจบังคับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้ห้ามจำเลยดังกล่าวได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้ารูปปลาโลมากับสินค้าพื้นรองเท้ายาง นอกจากที่แก้ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share