แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำว่า “เจ้าบ้าน” ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 92(5) หมายความถึงผู้เป็นหัวหน้าของบุคคลที่พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นและรวมตลอดถึงคู่สมรสของผู้เป็นหัวหน้าเท่านั้นเพราะบุคคลดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบในการครอบครองบ้านและปกครองผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้น หาได้รวมถึงผู้อยู่ในบ้านทุกคนไม่ ตามทะเบียนบ้านหลังเกิดเหตุมี บ. บิดาจำเลยเป็นหัวหน้ามีชื่อจำเลยอยู่ในฐานะเป็นบุตร จำเลยจึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าบ้านตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92(5) การที่ผู้เสียหายกับพวกเข้าไปจับกุมจำเลยในบ้านดังกล่าวตามหมายจับแต่ไม่มีหมายค้น ทั้งผู้เสียหายกับพวกมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่จะทำการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น จึงเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 81 และเป็นการจับกุมโดยไม่มีอำนาจ จำเลยจึงชอบที่จะป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการจับกุมโดยไม่ชอบเช่นนั้นได้หากจำเลยจะชกต่อยผู้เสียหายจริงก็เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนพอสมควรแก่เหตุ และไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และทำร้ายร่างกาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138,295, 90
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสอง, 295 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 138 วรรคสอง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุจ่าสิบตำรวจประภาส แสนซิวผู้เสียหายกับพวก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ได้ร่วมกันไปทำการจับกุมจำเลยตามหมายจับของศาลชั้นต้นที่บ้านเลขที่ 343 ตำบลสรเดชตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นบ้านที่จำเลยพักอาศัยอยู่ เมื่อผู้เสียหายกับพวกไปพบจำเลยอยู่ที่ริมถนนหน้าบ้าน ผู้เสียหายได้แสดงหมายจับให้จำเลยดูและให้จำเลยตามไปสถานีตำรวจ จำเลยหันหลังแล้ววิ่งหนีเข้าไปในบ้าน ผู้เสียหายกับพวกตามเข้าไปในบ้านเพื่อจับกุม ปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่โจทก์ฎีกาว่า ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อผู้เสียหายกับพวกไปถึงบ้านจำเลยพบจำเลยยืนอยู่ริมถนนหน้าบ้าน จำเลยเห็นเจ้าพนักงานจึงหนีเข้าไปในบ้านผู้เสียหายกับพวกมีอำนาจติดตามเข้าไปจับกุมจำเลยในบ้านของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92(5) เพราะเป็นการจับกุมตามหมายจับและจับกุมในบ้านของจำเลย เมื่อจำเลยต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงาน จำเลยจึงย่อมมีความผิดนั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายกับพวกเข้าไปจับกุมจำเลยในบ้านที่จำเลยพักอาศัยอยู่ จึงเป็นการจับกุมในที่รโหฐาน ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 81 ห้ามมิให้ทำการจับกุมในที่รโหฐานไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 ก็บัญญัติห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นโดยมีมาตรา 92(5) บัญญัติยกเว้นไว้ว่า เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และการจับนั้นมีหมายจับหรือจับตาม มาตรา 78 ก็ให้ทำการจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า จำเลยเป็นเจ้าบ้านตามความหมายดังที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ เห็นว่า คำว่า เจ้าบ้าน ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายความถึงผู้เป็นหัวหน้าของบุคคลที่พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นและรวมตลอดถึงคู่สมรสของผู้เป็นหัวหน้าเท่านั้นเพราะบุคคลดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบในการครอบครองบ้านและปกครองผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้น หาได้รวมถึงผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้นทุกคนแต่ประการใดไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ในบ้านเกิดเหตุมีบิดามารดาของจำเลย จำเลยและน้องสาวพักอาศัยอยู่ ทั้งตามภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ดังกล่าวเอกสารในสำนวนคดีนี้ก็ปรากฏว่ามีชื่อนายบัวลี บุญราศี บิดาจำเลยเป็นหัวหน้ามีชื่อจำเลยอยู่ในฐานะเป็นบุตร จำเลยจึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าบ้านตามความหมายดังกล่าว การที่ผู้เสียหายกับพวกจะเข้าไปทำการจับกุมจำเลยในบ้านดังกล่าว จึงต้องมีหมายค้นให้ถูกต้องเสียก่อน ทั้งผู้เสียหายกับพวกมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่จะทำการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น ดังนั้นเมื่อผู้เสียหายกับพวกเข้าทำการจับกุมจำเลยโดยไม่มีหมายค้นจึงเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้นและเป็นการจับกุมโดยไม่มีอำนาจจำเลยจึงชอบที่จะป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการจับกุมโดยไม่ชอบเช่นนี้ได้ หากจำเลยจะชกต่อยผู้เสียหายจริง ก็เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนพอสมควรแก่เหตุและไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และทำร้ายร่างกายดังฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน