คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5311/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้อง และนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2กระทำผิดอย่างเดียวกัน และพร้อมกันจึงเป็นเหตุในลักษณะคดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิด ก็ไม่อาจฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดด้วย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็ยกขึ้นพิจารณาและพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 83ให้ร่วมกันคืนเงิน 200 บาทแก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยที่ 3 และที่4 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงของศาลชั้นต้นดังกล่าวด้วย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 83 จำคุกคนละ 12 ปี จำเลยที่ 3ที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสดง จำคุกคนละ3 ปี คำรับสารภาพของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงิน 200 บาทแก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3706/2529 ของศาลชั้นต้นและนับโทษจำเลยที่ 4ต่อจากโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3596/2529 ของศาลชั้นต้นตามลำดับ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยที่3 ที่ 4 ร่วมคืนเงิน 200 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2529 เวลา 1 นาฬิกาเศษ ขณะที่นายกำแหงเก็กง้วน ผู้เสียหายกับนางสมศรี เก็กง้วน ภรรยาและบุตรชาย อายุ 3ขวบกำลังนอนอยู่ที่บ้านเลขที่ 69 หมู่ที่ 19 ตำบลทุ่งกระพังโหมอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มีคนร้าย 2 คนเข้ามาในบ้านใช้อาวุธมีดพกจี้ขู่ผู้เสียหายกับนางสมศรีไม่ให้ร้อง บังคับให้ผู้เสียหายเอากุญแจมาไขตู้เสื้อผ้า แล้วเอาเงินสด 200 บาท ในตู้เสื้อผ้าไป และคนร้ายทั้งสองจับผู้เสียหายกับนางสมศรีมัดติดกันไว้ จากนั้นจึงได้เปิดประตูบ้านแล้วเรียกคนร้ายอีกคนหนึ่งเข้ามาช่วยกันขนเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายคือรถจักรยานยนต์ 1 คัน เครื่องรับโทรทัศน์ 1 เครื่องหม้อหุงข้าวไฟฟ้า 1 ใบ นาฬิกาแขวน 1 เรือน ออกจากบ้านพากันหลบหนีไปคนร้ายไปแล้วผู้เสียหายกับนางสมศรีดิ้นหลุดจากเชือกที่ถูกมัดไว้ผู้เสียหายจึงไปแจ้งเหตุต่อเพื่อนบ้านและผู้ใหญ่บ้าน รุ่งขึ้นเข้าผู้เสียหายไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมและพาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ที่บ้านนายสุรินทร์ สุขหงษ์ คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1กระทำผิดตามฟ้องของโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้ศาลฎีกาตรวจพิเคราะห์คำฟ้องฎีกาของจำเลยที่ 1 และพยานหลักฐานโดยตลอดแล้วเห็นว่า นายกำแหงเก็กง้วน ผู้เสียหาย กับภรรยา เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่เข้าไปในห้องนอนของผู้เสียหาย จี้และมัดผู้เสียหายกับภรรยา และค้นเก็บเอาทรัพย์สินไป แต่ตามภาพถ่ายประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งมี 12 ภาพกลับแสดงว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทั้งสิ้น โดยแต่ละภาพมีบันทึกประกอบและคำบรรยายชัดแจ้งใต้ภาพทุกภาพว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้กระทำการตามภาพถ่ายเหล่านั้นคือ เข้าไปในห้องนอนของผู้เสียหายจี้และมัดผู้เสียหายกับภรรยาและค้นเก็บทรัพย์สินไป ซึ่งตามคำเบิกความของผู้เสียหายกับภรรยาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตอนนี้แต่อย่างไร ทำให้เป็นข้อพิรุธสงสัยว่า ถ้าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่เป็นผู้เข้าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตอนนี้แล้วจำเลยที่ 3 และที่ 4 แสดงท่าประกอบคำรับสารภาพนั้นได้อย่างไร แต่ถ้าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้าไปในห้องนอนของผู้เสียหาย จี้และมัดผู้เสียหายกับภรรยาและค้นเก็บทรัพย์สินไปจริงจึงแสดงท่าประกอบคำรับสารภาพได้ถูกต้องอย่างที่ผู้เสียหายและภรรยาได้ประสบมาด้วยตนเอง จึงยอมให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 แสดงท่าทางประกอบคำรับสารภาพมาโดยตลอด ก็ย่อมแสดงว่าในขณะเกิดเหตุผู้เสียหายและภรรยาไม่เห็นและไม่รู้ว่าใครเป็นคนร้ายเข้าไปจี้ตน เพราะเหตุเกิดเวลา 1 นาฬิกาเศษ ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้คนทั่วไปนอนหลับสนิท เมื่อคนร้ายเข้าไปถึงตัวทันทีทันใดผู้เสียหายและภรรยาน่าจะอยู่ในสภาพงัวเงียประกอบกับความตกใจ ผู้เสียหายกับภรรยาไม่น่าจะรู้ว่าใครเป็นใคร จึงมีเหตุน่าเชื่อว่าผู้เสียหายแและภรรยาจำคนร้ายไม่ได้ เมื่อมีเหตุน่าสงสัยดังนี้แล้วจึงควรพิเคราะห์ประจักษ์พยานของโจทก์ ซึ่งมีเฉพาะผู้เสียหายและภรรยาด้วยความระมัดระวังต่อไปว่า คำเบิกความของพยานทั้งสองนี้สอดคล้องต้องกันมั่นคงมีเหตุควรเชื่อถือได้เพียงใดหรือไม่ ปัญหานี้ผู้เสียหายได้เบิกความต่อศาลว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ช่วยกันค้นหาทรัพย์สินทุกแห่งในบ้านผู้เสียหายไปจนหมดแล้วจึงใช้เชือกไนลอนมัดมือผู้เสียหายติดกับมือของภรรยาไว้ โดยมิได้กล่าวถึงว่ามีการมัดเท้าด้วย แต่ในชั้นสอบสวนผู้เสียหายได้ให้การว่ามีการมัดเท้าไว้ด้วย และให้การว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มัดผู้เสียหายและภรรยาไว้ก่อนแล้วจึงค้นหาทรัพย์ คำเบิกความของผู้เสียหายชั้นศาลและคำให้การชั้นสอบสวนไม่สอดคล้องกันเช่นนี้ ทำให้คำพยานปากนี้ไม่น่าเชื่อถือส่วนภรรยาของผู้เสียหายนั้นเบิกความต่อศาลว่านายรัตน์คนร้ายอีกคนหนึ่เป็นคนจูงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปแต่ตามภาพถ่ายประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 4 ตามที่โจทก์ส่งศาลภาพที่ 11 กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เป็นคนจูงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป คำเบิกความของภรรยาผู้เสียหายกับภาพถ่ายดังกล่าวเป็นพยานโจทก์ทั้งสิ้น แต่ยืนยันข้อเท็จจริงไปคนละทาง โจทก์ไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าความจริงเป็นอย่างไร พยานโจทก์จึงเชื่อถือไม่ได้ความจริงเป็นอย่างที่โจทก์ฟ้อง นอกจากนี้คำเบิกความของผู้เสียหายและภรรยานั้นยังมีข้อพิรุธขัดต่อเหตุผลอีกประการหนึ่งคือผู้เสียหายและภรรยาอ้างว่าเห็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 จากแสงไฟฟ้าที่จำเลยที่ 2 เปิดสว่างขึ้นเพื่อค้นหาทรัพย์สินนั้น ข้อเท็จจริงในทางนำสืบปรากฏว่าผู้เสียหายว่ารู้จักจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาก่อน จำเลยทั้งสองก็น่าจะต้องรู้ว่าผู้เสียหายก็รู้จักจำเลยทั้งสองด้วย จึงไม่มีเหตุผลอย่างไรที่จำเลยที่ 2 จะเปิดไฟฟ้าในห้องที่เกิดเหตุซึ่งอาจทำให้ผู้เสียหายจำหน้าของตนได้ และทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 มีไฟฉายไปด้วยตามที่ปรากฏในคำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวน สรุปพยานหลักฐานโจทก์ที่ได้วินิจฉัยมาฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ได้กระทำผิดตามฟ้อง ดจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2กระทำผิดอย่างเดียวกันและพร้อมกัน จึงเป็นเหตุในลักษณะคดีเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทที่ 1 กระทำผิดก็ไม่อาจฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดด้วย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นพิจารณาได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share