คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1035/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บริษัท ส. ซึ่งถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างค้างชำระค่าภาษีกากรแก่โจทก์รวม 334,537.34 บาท เฉพาะเงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ถึง จำเลยที่ 6 และที่ 8 ค้างชำระค่าหุ้นของบริษัท ส. รวมเป็นเงิน 374,250 บาท ซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินค่าภาษีที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องทั้งหมด แม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากหนี้เงินค่าหุ้นที่จำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 หรือไม่ก็ตาม เมื่อเงินต้นที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์รวมกันเกินกว่าจำนวนหนี้ทั้งหมดที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับ ดังนี้ ไม่มีเหตุที่โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยได้(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมบริษัทสยามวิศว์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน500,000 บาทแบ่งออกเป็น 5,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ต่อมานายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ได้ขีดชื่อบริษัทนี้ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ตามมาตรา 1246 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผลให้บริษัทนี้เป็นอันเลิกกัน โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับบริษัทเพื่อยึดทรัพย์สินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างแก่โจทก์ได้ ก่อนบริษัทนี้จะถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทนี้ โดยจำเลยที่ 1 ถือหุ้น 890 หุ้น จำเลยที่ 2 ถือหุ้น1,480 หุ้น จำเลยที่ 3 ถือหุ้น 1,990 หุ้น จำเลยที่ 4 ถือหุ้น600 หุ้น จำเลยที่ 5 ถือหุ้น 10 หุ้น จำเลยที่ 6 ถือหุ้น 10หุ้น จำเลยที่ 8 ถือหุ้น 10 หุ้น ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8ได้ชำระค่าหุ้นเพียงหุ้นละ 25 บาท เมื่อ พ.ศ. 2515 เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์มีเหตุอันควรเชื่อว่าบริษัทสยามวิศว์ จำกัดได้เสียภาษีอากรไว้ไม่ถูกต้องเจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบไต่สวนจึงพบว่าบริษัทสยามวิศว์ จำกัด ต้องรับผิดชำระภาษีอากรแก่โจทก์ 298,348.13 บาท เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินให้บริษัทสยามวิศว์ จำกัด นำเงินภาษีอากรจำนวนดังกล่าวไปชำระแก่โจทก์บริษัทสยามวิศว์ จำกัด รับแจ้งการประเมินแล้วไม่ชำระ และมิได้อุทธรณ์การประเมินจึงต้องเสียเงินเพิ่มภาษีการค้าจำนวน 36,179.21 บาท รวมเป็นค่าภาษีอากร และเงินเพิ่มทั้งสิ้น 334,537.34 บาท เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ยังค้างชำระค่าหุ้นแก่บริษัทสยามวิศว์ จำกัด อยู่ จำเลยทั้งแปดจึงต้องร่วมกันชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวาแก่โจทก์ โดยให้แต่ละคนรับผิดชำระหนี้ไม่เกินจำนวนมูลค่าหุ้นที่แต่ละคนยังค้างชำระและดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินที่แต่ละคนจะต้องชำระแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การ และจำเลยที่ 2 ให้การกับแก้ไขคำให้การมีใจความสำคัญทำนองเดียวกันว่า บริษัทสยามวิศว์ จำกัด ได้เสียภาษีอากรโดยครบถ้วนถูกต้องแล้วการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และขาดอายุความ
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ส่วนจำเลยที่ 7 โจทก์ขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ชำระหนี้แก่ดจทก์ 334,537.34 บาท แต่ให้จำเลยแต่ละคนรับผิดภายในวงเงินดังนี้ จำเลยที่ 1 จำนวนเงิน 66,750 บาท จำเลยที่ 2จำนวนเงิน 111,000 บาท จำเลยที่ 3 จำนวนเงิน 149,250 บาท จำเลยที่ 4 จำนวนเงิน 45,000 บาท จำเลยที่ 5 จำนวนเงิน 750 บาทจำเลยที่ 6 จำนวนเงิน 750 บาท และจำเลยที่ 8 จำนวนเงิน 750 บาท แต่เมื่อรวมแล้วไม่เกินเงินภาษีอากรที่บริษัทสยามวิศว์ จำกัดค้างชำระโจทก์ คำขอของโจทก์ยิ่งกว่านี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า บริษัทสยามวิศว์ จำกัด ค้างชำระค่าภาษีอากรแก่โจทก์รวมทั้งสิ้น 334,537.34 บาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8ต่างเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทสยามวิศว์ จำกัด และค้างชำระค่าหุ้นอยู่ตามจำนวนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้แต่ละคนรับผิดต่อโจทก์ ปัญหาตามฎีกาของโจทก์มีเพียงว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ต้องรับผิดชำระให้หแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ร่วมกันชำระเงินค่าภาษีทั้งหมด 334,537.34 บาท แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 รับผิดชำระเงินแก่โจทกืตามส่วนของเงินค่าหุ้นที่ยังค้างชำระเป็นเงิน 66,750 บาท111,000 บาท 149,250 บาท 45,000 บาท 750 บาท 750 บาท และ 750 บาทโดยเมื่อรวมกันแล้วไม่เกินเงินภาษีอากรที่บริษัทสยามวิศว์จำกัด ค้างชำระโจทก์นั้น ปรากฏว่าเฉพาะเงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ค้างชำระค่าหุ้นอยู่เมื่อรวมกันเป็นเงินทั้งสิ้นถึง 374,250 บาท ซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินค่าภาษีที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาทั้งหมดดังกล่าว แม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากหนี้เงินค่าหุ้นซึ่งจำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ดังที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อลำพังเงินต้นที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์รวมเข้าด้วยกันเป็นจำนวนเกินกว่าจำนวนหนี้ทั้งหมดที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับเสียแล้ว จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะเรียกร้องเอาดอกเบี้ยได้อีก…’
พิพากษายืน

Share