คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1031/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาต่อการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยว่า จำเลยจะเป็นผู้ชำระเงินให้โจทก์เป็นค่าภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันตามจำนวนน้ำมันเบนซินที่ผลิตได้ ต่อมาจำเลยได้ชำระภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันให้โจทก์ การที่โจทก์รับชำระเงินดังกล่าวไว้ตลอดมาถือได้ว่าโจทก์แสดงเจตนาต่อจำเลยผู้เป็นลูกหนี้แล้วว่า โจทก์ถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นนับแต่จำเลยเริ่มปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงมีอำนาจเรียกจำเลยให้ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันได้ตามสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 5/2523 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2523 ข้อ 10 และคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 5/2524 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2524 ข้อ 7 ระบุให้ผู้มีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันกรณีเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตและจำหน่ายจากโรงกลั่นน้ำมันในราชอาณาจักรเพื่อใช้ในราชอาณาจักร ส่งเงินแก่ผู้รับชำระภาษีน้ำมันพร้อมกับการชำระภาษีน้ำมันและกฎกระทรวง(พ.ศ. 2507) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันซึ่งทำในราชอาณาจักร พ.ศ. 2507 ข้อ 2(ค) ระบุให้ชำระภาษีภายใน10 วัน นับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระให้ทราบ ดังนั้น เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยให้ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งจำเลยทราบถึงหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ส่งเงินพร้อมกับชำระภาษีภายในกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 โดยโจทก์ไม่ต้องทวงถามก่อน โจทก์บรรยายฟ้องระบุว่า โจทก์มีอำนาจจัดเก็บภาษีสรรพสามิตภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน กับมีอำนาจเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธอำนาจหน้าที่ดังกล่าวจึงฟังได้ว่าโจทก์มีอำนาจรับชำระภาษีและเงินกองทุนน้ำมันดังกล่าวโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีอำนาจจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันรวมทั้งมีอำนาจเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจำเลยมีหน้าที่ชำระภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันกับส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันให้โจทก์ แต่ระหว่างวันที่ 20 เมษายน 2524 ถึงวันที่26 กรกฎาคม 2525 จำเลยผิดนัดไม่ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 26 ครั้งจำเลยเพิ่งส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันให้โจทก์เมื่อวันที่ 20 เมษายน2527 จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินกองทุนน้ำมันที่ส่งให้โจทก์ช้าๆกว่ากำหนดเวลาในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี รวมค่าดอกเบี้ยเป็นเงิน 38,060,056.41 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ ขอให้จำเลยชำระเงิน 38,060,056.41 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมันไม่มีหน้าทีผลิตหรือร่วมผลิตน้ำมัน จึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะเสียภาษีน้ำมันและไม่มีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันตามฟ้องของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย เพราะเป็นดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย จำเลยไม่เคยได้รับการทวงถามจากโจทก์ให้ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน จำเลยไม่ได้เป็นผู้ผิดนัด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 38,060,056.41 บาทให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในประเด็นว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันและผิดนัดไม่ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันหรือไม่กับต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยให้การและนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระให้โจทก์ แต่ยอมรับว่าจำเลยได้ทำสัญญากับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้โรงกลั่นน้ำมันทหาร(บางจาก) ผลิตน้ำมันเบนซินให้จำเลย ปัญหาจะต้องวินิจฉัยประการแรกจึงมีว่า จำเลยต้องผูกพันชำระเงินเข้ากองทุนตามสัญญาหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระเงินเข้ากองทุนน้ำมันหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาโดยบรรยายฟ้องว่ามีสัญญาระหว่างการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาดของโรงกลั่นน้ำมันทหาร (บางจาก) ผู้ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมันกับจำเลยโดยจำเลยตกลงให้โรงกลั่นน้ำมันผลิตน้ำมันเบนซินให้จำเลยด้วยการผสมน้ำมันกับสารบางชนิดให้เป็นน้ำมันเบนซินและเบนซินพิเศษ เป็นการร่วมกับโรงกลั่นน้ำมันดังกล่าวประกอบอุตสาหกรรมน้ำมัน จำเลยตกลงเป็นผู้ชำระภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันตามจำนวนน้ำมันเบนซินที่ผลิตได้ และโจทก์เป็นผู้รับชำระภาษีเงินกองทุนน้ำมันโดยหน้าที่ตามกฎหมายและโดยข้อสัญญาระหว่างการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยกับจำเลย ฟ้องดังกล่าวจึงเป็นฟ้องให้บังคับจำเลยโดยอาศัยมูลหนี้เกิดจากสัญญา เมื่อจำเลยให้การยอมรับว่าทำสัญญากับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจริง จำเลยจึงมีความผูกพันและต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าว ปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อนี้เห็นว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 7 ระบุว่าบรรดาภาษีอากรที่เกี่ยวกับน้ำมันเบนซินสำเร็จรูปที่การปิโตรเลียมได้ผสมให้เอสโซ่ ตามสัญญานี้ เช่น ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันซึ่งเรียกเก็บโดยกรมสรรพสามิต และเงินส่งเข้ากองทุนหรือเงินชดเชยที่รับจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เอสโซ่ ตกลงจะเป็นผู้ชำระและส่งเงินเข้ากองทุน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาตกลงกันว่าจะชำระหนี้ให้กรมสรรพสามิตซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ฉะนั้น กรมสรรพสามิตโจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้เงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 เมื่อข้อเท็จจริงในทางนำสืบของคู่ความยอมรับกันว่านับแต่ทำสัญญากันแล้วจำเลยเป็นผู้ชำระภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันให้โจทก์รับชำระไว้ตลอดมา จึงถือได้ว่า โจทก์แสดงเจตนาแก่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้แล้วว่า โจทก์ถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นนับแต่จำเลยเริ่มปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงมีอำนาจเรียกให้จำเลยส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันได้ตลอดเวลาที่สัญญายังมีผลบังคับกันอยู่ ข้อเท็จจริงได้ความต่อไปตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่ามีกฎกระทรวง (พ.ศ. 2507) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันซึ่งทำในราชอาณาจักร พ.ศ.2507 ข้อ 2(ค) ระบุว่าผู้ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมันต้องชำระภาษีภายในสิบวัน นับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระให้ทราบ และให้ชำระภาษีที่ที่ทำการสรรพสามิตจังหวัดที่โรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่หรือที่กรมสรรพสามิต และคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 5/2523 เรื่องการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2523 ข้อ 10ระบุว่า การส่งเงินเข้ากองทุนตามข้อ 9 ให้ผู้มีหน้าที่ส่งเงินปฏิบัติดังนี้ (1) ถ้าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตและจำหน่ายจากโรงกลั่นน้ำมันในราชอาณาจักรเพื่อใช้ในราชอาณาจักร ต้องส่งให้แก่ผู้รับชำระภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันซึ่งทำในราชอาณาจักรพร้อมกับการชำระภาษีนั้น และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2524 เรื่องการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2524 ข้อ 7ระบุว่า ในการส่งเงินเข้ากองทุนตามข้อ 6 ให้ผู้มีหน้าที่ส่งเงินปฏิบัติดังต่อไปนี้ (1) ถ้าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตและจำหน่ายจากโรงกลั่นน้ำมันในราชอาณาจักรเพื่อใช้ในราชอาณาจักร ต้องส่งให้แก่ผู้รับชำระภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันซึ่งทำในราชอาณาจักรพร้อมกับการชำระภาษีนั้น ดังนั้น เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้แจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนน้ำมันเบนซินที่จำเลยนำออกจากโรงกลั่นให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยทราบแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายและตามสัญญาต้องชำระภาษีภายในกำหนด 10 วันพร้อมกับส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันภายในกำหนดเดียวกัน ข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่าระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2524 ถึงวันที่ 26 กรกฎาคม2525 จำเลยชำระค่าภาษีน้ำมัน แต่มิได้ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันให้แก่โจทก์ รวม 26 ครั้ง รวมเป็นเงินค้างส่งเข้ากองทุนจำนวน201,769,277.20 บาท และโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยเมื่อวันที่17 เมษายน 2527 ให้ส่งเงินจำนวนดังกล่าวเข้ากองทุน ซึ่งจำเลยได้ทำหนังสือลงวันที่ 20 เมษายน 2527 ส่งเงินเข้ากองทุน199,085,975.62 บาท ส่วนเงินที่เหลือจำเลยแจ้งว่าได้ส่งชำระก่อนหน้านั้นแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยได้ทราบถึงหนังสือของโจทก์มีถึงการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้ชำระภาษีน้ำมันภายใน10 วัน และได้รับแจ้งจำนวนภาษีที่จะต้องชำระแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยมิได้ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันพร้อมกับการชำระภาษีภายในกำหนดเวลาจำเลยจึงตกเป็นลูกหนี้ผู้ผิดนัด ต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 ทั้งนี้โดยโจทก์ไม่จำต้องทวงถามก่อน รวมดอกเบี้ยเป็นเงิน38,060,056.41 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ สำหรับข้อที่จำเลยให้การต่อสู้และนำสืบว่า จำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์นั้น เมื่อฟังว่าโจทก์พิจารณาและขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญา และคดีฟังได้ว่าจำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยเพราะไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยต้องเปลี่ยนแปลงไปส่วนที่จำเลยยกขึ้นฎีกาในเรื่องอำนาจฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่มีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเนื่องจากเป็นอำนาจของกระทรวงการคลังนั้น เห็นว่า โจทก์ระบุอำนาจหน้าที่ของตนไว้ในคำฟ้องแล้ว และจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธอำนาจหน้าที่ดังกล่าวไว้ คงอ้างแต่เพียงว่าจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีทั้งจำเลยก็ยอมรับในสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 7 แล้วว่ากรมสรรพสามิตเป็นผู้รับชำระภาษีและเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันจึงฟังได้ว่าโจทก์มีอำนาจหน้าที่รับชำระภาษีและเงินกองทุนน้ำมันจึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน.

Share