แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยจ้างโรงกลั่นน้ำมันทหาร (บางจาก) ผลิตน้ำมันเบนซินให้จำเลยโดยการผสมน้ำมันกับสารบางชนิด ทำให้เป็นน้ำมันเบนซินและเบนซินพิเศษ เป็นการร่วมกับโรงกลั่นน้ำมันทหาร (บางจาก)ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมัน และจำเลยทำสัญญาไว้กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยว่า จำเลยจะเป็นผู้ชำระภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันตามจำนวนน้ำมันเบนซินที่ผลิตได้โดยชำระให้แก่โจทก์ สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่คู่สัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และหลังจากทำสัญญาโจทก์ก็รับชำระเงินจากจำเลย ถือได้ว่าโจทก์แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์แห่งสัญญาแล้วต่อมาจำเลยไม่ชำระเงินเข้ากองทุนตามสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ เพื่อส่งเข้ากองทุนน้ำมันได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 374.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 38,060,056.41 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า วันที่ 26 กรกฎาคม 2525 จำเลยไม่ได้เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมันเบนซินเพราะทางการห้ามไม่ให้ผลิตสัญญาฉบับที่จำเลยทำกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นสัญญาจ้างทำของที่จำเลยจ้างโรงกลั่นน้ำมันทหารผลิตน้ำมันเบนซินให้จำเลยโดยจำเลยนำสารและส่วนประกอบน้ำมันหลายอย่างที่ไม่ใช่น้ำมันเบนซินให้โรงกลั่นน้ำมันทหารเป็นผู้ทำการผลิต จำเลยไม่ได้เป็นผู้ผลิตหรือร่วมผลิต จึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการเสียภาษีน้ำมันเบนซินและผลิตภัณฑ์ น้ำมันเบนซินและไม่มีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันตามฟ้องของโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระดอกเบี้ยในการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันล่าช้าจึงไม่ชอบในสัญญาปฏิบัติกรรมผสมปิโตรเลียมที่จำเลยว่าจ้างโรงกลั่นน้ำมันทหารที่ระบุว่าจำเลยจะเป็นผู้จ่ายค่าภาษีเกี่ยวกับน้ำมันเบนซินที่ผู้รับจ้างผลิตผลิตให้ตามสัญญาและรวมถึงจ่ายเงินที่ต้องส่งเข้ากองทุนน้ำมันก็เป็นเพียงข้อตกลงที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการผลิตเช่นเดียวกับค่าจ้าง และค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ๆ ข้อตกลงนี้ไม่ได้ทำให้จำเลยกลายเป็นผู้ผลิต หรือผู้ร่วมประกอบอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันเบนซินตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 38,060,056.41 บาทให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… “ประเด็นต่อไปมีว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันและผิดนัดไม่ส่งเงินเข้ากองทุนหรือไม่กับต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หรือไม่ ประเด็นดังกล่าวจำเลยให้การและนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระให้โจทก์แต่ยอมรับว่าจำเลยได้ทำสัญญากับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้โรงกลั่นน้ำมันทหาร (บางจาก) ผลิตน้ำมันเบนซินให้จำเลย ปัญหาจะต้องวินิจฉัยประการแรกจึงมีว่าจำเลยต้องผูกพันชำระเงินเข้ากองทุนตามสัญญาหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระเงินเข้ากองทุนน้ำมันหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาโดยบรรยายฟ้องว่ามีสัญญาระหว่างการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาดของโรงกลั่นน้ำมันทหาร (บางจาก) ผู้ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมันกับจำเลยโดยจำเลยตกลงให้โรงกลั่นน้ำมันผลิตน้ำมันเบนซินให้จำเลยด้วยการผสมน้ำมันกับสารบางชนิดให้เป็นน้ำมันเบนซินและเบนซินพิเศษเป็นการร่วมกับโรงกลั่นน้ำมันดังกล่าวประกอบอุตสาหกรรมน้ำมัน จำเลยตกลงเป็นผู้ชำระภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันตามจำนวนน้ำมันเบนซินที่ผลิตได้ และโจทก์เป็นผู้รับชำระภาษีกับเงินกองทุนน้ำมันโดยหน้าที่ตามกฎหมายและโดยข้อสัญญาระหว่างการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยกับจำเลย ฟ้องดังกล่าวจึงเป็นฟ้องให้บังคับจำเลยโดยอาศัยมูลหนี้เกิดจากสัญญา เมื่อจำเลยให้การยอมรับว่าทำสัญญากับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจริง จำเลยจึงมีความผูกพันและต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าว ปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อนี้เห็นว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3ข้อ 7 ระบุว่า บรรดาภาษีอากรที่เกี่ยวกับน้ำมันเบนซินสำเร็จรูปที่การปิโตรเลียมได้ผสมให้เอสโซ่ตามสัญญานี้ เช่นภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ซึ่งเรียกเก็บโดยกรมสรรพสามิต และเงินส่งเข้ากองทุนหรือเงินชดเชยที่รับจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เอสโซ่ตกลงจะเป็นผู้ชำระและส่งเงินเข้ากองทุน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาตกลงกันว่าจะชำระหนี้ให้กรมสรรพสามิตซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ฉะนั้น กรมสรรพสามิตโจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้เงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 374 เมื่อข้อเท็จจริงในทางนำสืบของคู่ความยอมรับกันว่านับแต่ทำสัญญากันแล้วจำเลยเป็นผู้ชำระภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันให้โจทก์รับชำระไว้ตลอดมา จึงถือได้ว่าโจทก์แสดงเจตนาแก่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้แล้วว่า โจทก์ถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นนับแต่จำเลยเริ่มปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงมีอำนาจเรียกให้จำเลยส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันได้ตลอดเวลาที่สัญญายังมีผลบังคับกันอยู่…”
พิพากษายืน.