คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2231/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานประเมินจะประเมินภาษีโจทก์ผู้มีหน้าที่เสียภาษี โดยวิธีการตามมาตรา 49 แห่ง ป.รัษฎากรได้ จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถทราบได้ว่าโจทก์มีรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงเพียงใด หาใช่เพียงแต่เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าผู้มีเงินได้มิได้ยื่นรายการเงินได้หรือยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่น ก็มีอำนาจกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิตามอำนาจพิเศษที่กำหนดไว้ใน มาตรา 49 โดยอนุมัติของอธิบดีกรมสรรพากรได้ทันทีไม่ดัง จะเห็นได้จากมาตรา 49 ที่ให้นำมาตรา 19 ถึง 26 มาใช้บังคับโดยอนุโลมซึ่งหมายความว่าเจ้าพนักงานประเมินจะต้องทำการตรวจสอบไต่สวนโดยวิธีการปกติตามอำนาจในมาตรา 19 และ 23 จนไม่อาจจะทราบได้ว่าผู้มีเงินได้นั้นมีรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงเพียงใดแล้ว จึงชอบที่จะใช้อำนาจตาม มาตรา 49 ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ปี พ.ศ. 2518 ซึ่งโจทก์ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่น และ ปี พ.ศ. 2519 ถึง 2522 ซึ่งโจทก์มิได้ยื่นรายการโดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 49 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกา โดยมติที่ประชุมใหญ่ วินิจฉัยว่า “การที่เจ้าพนักงานประเมินจะประเมินภาษีโจทก์ โดยวิธีการตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากรได้ จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถทราบได้ว่าโจทก์มีรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงเพียงใดหาใช่เพียงแต่เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าผู้มีเงินได้มิได้ยื่นรายการเงินได้หรือยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่น ก็มีอำนาจกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิตามอำนาจพิเศษที่กำหนดไว้ใน มาตรา 49โดยอนุมัติของอธิบดีกรมสรรพากรได้ทันทีไม่ดังจะเห็นได้จากตัวบทมาตรา 49 ที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 19 ถึง 26 มาใช้บังคับโดยอนุโลมซึ่งหมายความว่าเจ้าพนักงานประเมินจะต้องทำการตรวจสอบไต่สวนโดยวิธีการปกติตามอำนาจในมาตรา 19 และ 23 จนไม่อาจจะทราบได้ว่าผู้มีเงินได้นั้นมีรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงเพียงใดแล้ว จึงชอบที่จะใช้อำนาจตาม มาตรา 49 ได้
สำหรับกรณีของโจทก์ ข้อเท็จจริงได้ความจากนางสาววรรณแสงริเริ่มวณิชย์ และหม่อนราชวงศ์สุวรรโณภาส ศรีหิรัญ พยานจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินผู้ตรวจสอบภาษีรายนี้ว่า เหตุที่มีการขออนุมัติออกหมายเรียกโจทก์มาทำการตรวจสอบไต่สวนโดยวิธีการตามมาตรา 49 เนื่องจากปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทและธนาคารต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก แต่โจทก์กรอกรายการเงินปันผลที่ได้รับในแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีในปี พ.ศ. 2518 น้อยมาก และไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีในปี พ.ศ. 2519-2522 หลังจากนั้นเมื่อการตรวจสอบไต่สวนเสร็จสิ้น นางสาววรรณแสงได้จัดทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาตามมลำดับชั้นเพื่อขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรใช้วิธีการตามมาตรา 49 กับโจทก์ แต่ตามรายงานดังกล่าวปรากฏเพียงว่า นางสาววรรณแสงนำข้อมูลที่ได้จากโจทก์และมีข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบของตน มาคิดคำนวณหาเงินได้สุทธิของโจทก์ ตามสูตรเงินได้สุทธิเท่ากับมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น บวกรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการหารายได้ บวกการจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งไม่มีรายการใดมาชดเชย อันเป็นสูตรการหาเงินได้สุทธิตามมาตรา 49 ที่กรมสรรพากรใช้อยู่ แล้วคำนวณหาจำนวนเงินภาษีที่โจทก์ต้องชำระ โดยไม่ปรากฏในรายงานดังกล่าวเลยว่าข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบไต่สวน มีทางที่จะทราบรายได้รายจ่ายที่แท้จริงของโจทก์หรือไม่ เพราะเหตุใดในบันทึกความเห็นของผู้บังคับบัญชาของนางสาววรรณแสงตามลำดับชั้นก่อนเสนอต่ออธบิดีกรมสรรพากร ก็ไม่ปรากฏว่ามีการพิจารณาถึงปัญหาดังกล่าวเช่นกัน แม้ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามคำเบิกความของนางเพ็ญศรี ตันหยง เจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คนหนึ่งรวมทั้งรายงานของนางเพ็ญศร่ และรายงานการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ปรากฏเพียงว่ามีการนำหลักฐานที่โจทก์นำไปแสดงเพิ่มเติมมาพิจารณาปรับปรุงรายการต่าง ๆ เพื่อให้ถูกต้องตามสูตรการหาเงินได้สุทธิของกรมสรรพากรเท่านั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาข้างต้น แสดงว่าเจ้าพนักงานประเมินประสงค์ใช้วิธีการตามมาตรา 49 กับโจทก์มาแต่แรกเนื่องจากเห็นว่าโจทก์แสดงจำนวนเงินปันผลในแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีต่ำและทำการประเมินภาษีโจทก์โดยวิธีการตามมาตรา 49โดยมิได้คำนึงว่าข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบไต่สวนยังสามารถทราบรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงของโจทก์หรือไม่ สำหรับข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบไต่สวนซึ่งปรากฏว่าโจทก์แจ้งจำนวนเงินปันผลในแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีในปี พ.ศ. 2518 ขาดไป 70,698.75บาท และมิได้แจ้งว่าในปีเดียวกัน โจทก์ยังมีรายได้จากการขายหุ้นของตนในธนาคารเอเชียทรัสท์ จำกัด และบริษัทในเครืออีก 2 แห่ง คือบริษัทเอเชียทรัสท์ประกันภัย จำกัด และบริษัทเอเชียไฟแนนซ์แอนด์ทรัสท์ จำกัด เป็นเงินรวม 5,795,000 บาท กับได้ขายหุ้นของบุตรในธนาคารเอเชียทรัสท์ จำกัด เป็นเงิน 500,000 บาท นั้น ก็ปรากฏว่าเงินปันผลที่เจ้าพนักงานตรวจสอบพบว่าแจ้งขาด เป็นเงินปันผลที่โจทก์ได้รับจากบริษํทและธนาคารต่าง ๆ ที่โจทก์แจ้งให้ทราบเองว่ามีหุ้นทั้งปรากฏด้วยว่าเงินปันผลที่แจ้งขาดดังกล่าว ผู้จ่ายได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วทุกแห่งส่วนรายได้จากการขายหุ้นที่เจ้าพนักงานพบว่าโจทก์มิได้แจ้งในแบบแสดงรายการก็ปรากฏว่าโจทก์แจ้งเรื่องที่ขายหุ้นให้เจ้าพนักงานทราบเอง 1 แห่ง อีก 2 แห่งที่เจ้าพนักงานตรวจพบก็เป็นบริษัทที่โจทก์แจ้งให้ทราบเองเช่นกันว่ามีหุ้น ทั้งปรากฏว่าโจทก์ขายหุ้นในธนาคารและบริษัทดังกล่าวทุกแห่งในราคาตามที่ปรากฏในใบหุ้น อันเป็นราคาที่โจทก์ซื้อมาซึ่งไม่ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ช) ที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น การที่โจทก์มิได้แจ้งรายได้จากเงินปันผลที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว และมิได้แจ้งรายได้จาการขายหุ้นที่ไม่ต้องนำมาคิดคำนวณเพื่อเสียภาษี น่าจะถือได้ว่าเป็นข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ตามคำเบิกความของเจ้าพนักงานประเมินผู้ทำการตรวจสอบภาษีรายนี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีกรณีที่โจทก์ไม่นำหลักฐานที่เจ้าพนักงานประเมินต้องการมาแสดงหรือหลีกเลี่ยงไม่ยอมตอบคำถามหรือข้อสงสัยของเจ้าพนักงานประเมิน กลับปรากฏว่าโจทก์ได้จัดทำบัญชีแหล่งที่มาของเงินได้โดยละเอียดมอบให้เจ้าพนักงานประเมินพร้อมด้วยหลักฐานที่แสดงถึงที่มาของเงินได้ และไปพบเจ้าพนักงานประเมินตามนัดถึง 6 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้มีเจตนาปกปิดแหล่งที่มาของเงินได้ และให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานประเมินในการตรวจสอบไต่สวนเป็นอย่างดี นอกจากนี้ตามคำเบิกความของเจ้าพนักงานประเมินผู้ทำการตรวจสอบภาษีรายนี้ยังไม่ปรากฏว่า จากการตรวจสอบไต่สวนมีข้อเท็จจริงที่ส่อไปในทางที่ว่า โจทก์ยังมีรายได้จากแหล่งเงินได้อื่นนอกจากที่ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบ ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีของโจทก์เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินยังสามารถทราบได้ว่าโจทก์มีรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงเพียงใดการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่อาศัยประมวลรัษฎากร มาตรา 49 จึงเป็นการไม่ชอบ…”
พิพากษายืน.

Share