คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1031/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยผู้ทำการโรงสีไม่ได้ทำบัญชีข้าวและข้าวเปลือกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร ม.201 อันมีโทษตาม ม.208 แต่ขณะพิจารณาคดีได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 บังคับ พ.ร.บ.นี้ได้ยกเลิกและบัญญัติเรื่องการทำบัญชีข้าวและข้าวเปลือกใหม่ตาม ม.40 โดยแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ม.87 ทวิขึ้นใหม่และมีบทลงโทษตาม ม.93 ซึ่งมีโทษเบากว่า การกระทำของจำเลยจึงต้องนำ ม.87 ทวิ และ ม.93 มาใช้บังคับและต้องนำอายุความสำหรับบทลงโทษตาม ก.ม. ที่ใช้อยู่ในขณะพิจารณาคดีซึ่งมีโทษเบากว่ามาใช้บังคับแก่คดีด้วย
หน้าที่ทำบัญชีตาม พ.ร.บ.บัญชีนั้นเป็นหน้าที่เฉพาะบุคคลตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. การบัญชี ม.7 บุคคลอื่นที่ไม่มีหน้าที่ทำบัญชีจะเรียกว่าเป็นผู้ละเว้นกระทำไม่ได้ และจะช่วยสมรู้หรือสมคบในการไม่กระทำตามหน้าที่คนอื่นไม่ได้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ผู้เดียว โจทก์ฝ่ายเดียวอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ด้วยศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานสมรู้กระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกา ถ้าเป็นเหตุในลักษณะคดีแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขคำพิพากษาให้เป็นผลดีแก่จำเลยที่ 1ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันกระทำผิด ก.ม. โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้กระทำการโรงสีไฟโพธิ์ศรีสวัสดิ์ ซึ่งสีข้าวได้วันหนึ่งตั้งแต่หนึ่งหาบหลวงขึ้นไป เพื่อการค้า จำเลยที่ ๒ เป็นเสมียนมีหน้าที่ทำบัญชีจำเลยได้สมคบกันจำหน่ายข้าวสารให้แก่บริษัทข้าวไทย จำกัด ไปแล้วไม่ทำบัญชีจำหน่ายข้าวสารไม่ลงรายการในแบบ ภ.ช.๔ ก. กะทงหนึ่งและจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ทำบัญชีตามประกาศ ร.ม.ว.กระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดประเภทที่ต้องทำบัญชีตาม พ.ร.บ.การบัญชี จำเลยที่ ๒ เป็นเสมียนมีหน้าที่ทำบัญชี จำเลยได้สมคบกันละเว้นการลงรายการเงินสดในบัญชีเงินสดค่าขายข้าวตามที่กล่าวในข้อแรกอีกกะทงหนึ่ง ขอให้ลงโทษตามประมวลรัษฎากร ม.๒๐๑,๒๐๘,๘๗ ทวิ,๙๓ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๔๘๙ ม.๑๗ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ ม.๔๐ ประกาศกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ ๓) ลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๙๖ พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ. ๒๔๘๒ ม.๖,๗,๑๐,๑๙ ประกาศ ร.ม.ว.กระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดประเภทกิจการที่ต้องทำบัญชีพาณิชย์ เรื่องกำหนดประเภทกิจการที่ต้องทำบัญชีลงวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๙๑ ก.ม.อาญา ม.๖๓,๗๑
จำเลยรับสารภาพตลอดข้อหา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ ผิดตามประมวลรัษฎากร ม.๘๗ ทวิ.๙๓ ประกอบกับ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐ ) พ.ศ. ๒๔๙๖ ม.๔๐ ปรับ ๒๐๐๐ บาท กะทงหนึ่งและตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ. ๒๔๘๒ ม.๖,๗,๑๐,๑๙ อีกกะทงหนึ่ง ปรับ ๕๐๐ บาท ลดตาม ก.ม. อาญา ม.๕๙ กึ่งหนึ่งคงให้ปรับทั้งสองกะทง ๑๒๕๐ บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ เสีย
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ด้วย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ ๒ มีความผิดฐานผู้สมรู้
ศาลพิจารณาฟ้องโจทก์กะทงแรกเห็นว่าขณะจำเลยกระทำการอันเกิดเป็นคดีนี้ ก.ม.ที่ใช้บังคับคือประมวลรัษฎากร ม.๒๐๑,๒๐๘ แต่จำเลยถูกฟ้องเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ ซึ่งเป็นเวลาที่มาตรานี้ถูกยกเลิกแล้ว โจทก์ฟ้องอ้าง ม.๘๗ ทวิ และ ๙๓ มาด้วย ศาลล่างให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ใหม่นี้เพราะเป็น ก.ม.ที่ใช้อยู่เมื่อขณะพิจารณาคดี ศาลฎีกาเห็นว่าแม้หากจำเลยจะผิดตาม ก.ม.ใหม่นี้ ก็ตามก็ปรากฎว่าเมื่อนับถึงเวลาที่ฟ้องเป็นเวลากว่า ๓ ปีแล้ว โทษตามมาตรานี้ให้ปรับไม่เกินห้าพันบาทฟ้องกะทงแรกของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ก.ม.อาญา ม.๗๘ (๔) และโดยที่เป็นเหตุในลักษณะคดีแม้จำเลยที่ ๑ จะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นได้และจำเลยที่ ๒ ก็ย่อมได้รับผลเช่นเดียวกัน สำหรับฟ้องโจทก์กะทงที่๒ เห็นว่าตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ. ๒๔๘๒ ม.๗ ประกอบด้วย ม.๖ ผู้มีหน้าที่ทำบัญชีคือผู้ประกอบกิจการ ผู้อื่นที่ไม่มีหน้าที่จะเรียกว่าเป็นผู้ละเว้นไม่ได้ และจะสมรู้หรือสมคบในการไม่กระทำตามหน้าที่ของอีกคนก็ไม่ได้ดุจกัน เพราะเป็นหน้าที่ที่ ก.ม. กำหนดไว้เฉพาะตัว จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีความผิด (อ้างฎีกาที่ ๔๖๕/๒๔๙๖) พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์กะทงแรกเสีย นอกนั้นคงยืน

Share