คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10292/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการฟ้องคดีล้มละลายของเจ้าหนี้มีประกัน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) บังคับให้โจทก์ต้องตีราคาหลักประกันมาในฟ้อง ซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดสำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลไม่น้อยกว่าสองล้านบาท เนื่องจากเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของลูกหนี้ในอันที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่หลักประกันนั้นได้ก่อนเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ซึ่งเมื่อนำราคาหลักประกันมาหักชำระหนี้แล้ว เงินยังขาดอยู่เท่าใด หนี้ส่วนที่เหลือย่อมเป็นหนี้ธรรมดาเฉกเช่นเดียวกับเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ฉะนั้น การตีราคาหลักประกันจึงต้องถูกต้องเหมาะสมด้วย หากตีราคาหลักประกันต่ำเกินสมควรเพียงเพื่อจะให้จำนวนหนี้อยู่ในหลักเกณฑ์ในการฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายก็จะไม่เป็นธรรมแก่ลูกหนี้ ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาตรวจสอบการตีราคาหลักประกันของโจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การ
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงอันเป็นยุติในชั้นนี้โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โต้แย้งกันฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.188/2545 จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดห้องชุดเลขที่ 1809/4 และ 1809/5 ชื่ออาคารชุดนิรันดร์คอนโดมิเนียม ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 12546, 81912 และ 81915 ตำบลเทพารักษ์ (สำโรงฝั่งใต้) อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ของจำเลยทั้งสองที่จำนองเป็นประกัน อยู่ระหว่างการขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ สำหรับห้องชุดเลขที่ 1809/5 เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้เป็นเงิน 352,600 บาท ตามสำเนาหนังสือสำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการ และสำเนารายงานการยึดห้องชุด ส่วนห้องชุดเลขที่ 1809/4 ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้เท่าใด โจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันโดยมีห้องชุดดังกล่าวของจำเลยทั้งสองจำนองเป็นประกัน ซึ่งมิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ราคาหลักประกันที่โจทก์ตีมาในฟ้องเหมาะสมแล้วหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ตีราคาหลักประกันมาในฟ้องเป็นอำนาจของโจทก์ที่จะตีราคาเป็นเท่าใด ส่วนราคาสมควรหรือไม่ต้องอยู่ในชั้นพิจารณาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลไม่มีอำนาจก้าวล่วงไปพิจารณานั้น เห็นว่า ในการฟ้องคดีล้มละลายของเจ้าหนี้มีประกัน พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) บังคับให้โจทก์ต้องตีราคาหลักประกันมาในฟ้อง ซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดสำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลไม่น้อยกว่าสองล้านบาท เนื่องจากเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของลูกหนี้ในอันที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่หลักประกันนั้นได้ก่อนเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ซึ่งเมื่อนำราคาหลักประกันมาหักชำระหนี้แล้ว เงินยังขาดอยู่เท่าใด หนี้ส่วนที่เหลือย่อมเป็นหนี้ธรรมดาเฉกเช่นเดียวกับเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ฉะนั้น การตีราคาหลักประกันจึงต้องถูกต้องเหมาะสมด้วย หากตีราคาหลักประกันต่ำเกินสมควรเพียงเพื่อจะให้จำนวนหนี้อยู่ในหลักเกณฑ์ในการฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายก็จะไม่เป็นธรรมแก่ลูกหนี้ ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาตรวจสอบการตีราคาหลักประกันของโจทก์ด้วย คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาห้องชุดเลขที่ 1809/5 เป็นเงิน 352,600 บาท ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้โต้แย้งการประเมินราคาของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่ามีราคาไม่สมควร กรณีถือได้ว่าโจทก์ยอมรับราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว แต่โจทก์ไม่นำสืบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาห้องชุดเลขที่ 1809/4 เป็นเงินเท่าใด ปรากฏตามแบบสำรวจและประเมินราคาห้องชุด ระบุว่าห้องชุดเลขที่ 1809/4 มีเนื้อที่ 24.48 เมตร เท่ากับห้องชุดเลขที่ 1809/5 ซึ่งอยู่ชั้นเดียวกัน จึงน่าเชื่อว่ามีราคาประเมิน 352,600 บาท เท่ากัน รวมราคาประเมินหลักประกันของโจทก์เป็นเงิน 705,200 บาท การที่โจทก์ตีราคาหลัก ประกันมาใหม่ในฟ้องเป็นเงิน 190,000 บาท โดยโจทก์มีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนางสาวนงลักษณ์ ทนายโจทก์ว่า โจทก์ประเมินราคาหลักประกันเป็นเงินดังกล่าวตามแบบสำรวจและประเมินราคาห้องชุด ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นราคาต่ำกว่าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้มาก แบบสำรวจและประเมินราคาดังกล่าวกระทำโดยบริษัทเดอะแวลูเอชั่น แอนด์ คอนซัลแทนท์ส จำกัด ซึ่งประเมินโดยวิธีสืบราคาและการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับห้องชุดอื่นๆ ที่มีทำเลที่ตั้งและสภาพแวดล้อมเหมือนกัน มีขนาดเนื้อที่ภายในเท่ากัน ที่ตั้งชั้นของห้องชุดเหมือนกัน ซึ่งมีราคาห้องละ 140,000 บาท จึงประเมินราคาห้องชุดเลขที่ 1809/4 เป็นเงิน 190,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าได้ประเมินราคาห้องชุดเลขที่ 1809/5 มาด้วย แต่โจทก์กลับตีราคาห้องชุดเลขที่ 1809/4 และ 1809/5 อันเป็นหลักประกันมาในฟ้องเป็นเงิน 190,000 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง ทั้งโจทก์ก็มิได้นำผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินราคามานำสืบอธิบายหลักเกณฑ์วิธีการประเมิน ดังนั้น การประเมินราคาหลักประกันของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนัก เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นราคาที่ถูกต้องเหมาะสม ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคามาตั้งแต่ปี 2547 อันเป็นเวลาล่วงมานานเจ็ดปีแล้ว ซึ่งภายหลังเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดหลายครั้งแต่ไม่สามารถขายได้ ราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่น่าเชื่อถือนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่า มีการขายทอดตลาดหลักประกันมาแล้วหลายครั้งแต่ขายไม่ได้นั้น โจทก์เพิ่งกล่าวอ้างในชั้นนี้โดยโจทก์ไม่เคยหยิบยกขึ้นว่าในชั้นพิจารณาของศาลล้มละลายกลางมาก่อน ทั้งโจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงถึงการขายทอดตลาดหลักประกันในแต่ละครั้งและเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องเลื่อนการขายออกไปเพราะราคาต่ำ ข้ออุทธรณ์ของโจทก์จึงเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เชื่อว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีถูกต้องเหมาะสมมากกว่าราคาประเมินที่โจทก์ดำเนินการโดยให้บริษัทเอกชนประเมิน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์รวมทั้งสิ้น 1,672,989.42 บาท เมื่อนำราคาประเมินหลักประกันของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเงิน 705,200 บาท มาหักออกจากจำนวนหนี้ดังกล่าวแล้วเงินยังขาดอยู่ 967,789.42 บาท อันเป็นจำนวนน้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share