แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนโจทก์รับมรดกความจากมารดาซึ่งได้ฟ้องผู้เช่าที่ดินวัดร้างเป็นจำเลยมิได้ฟ้องกรมการศาสนาจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าด้วย ศาลพิพากษายกฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่โจทก์ว่าเดินเข้าออกที่สะพานปลาไม่จำเป็นต้องรับอนุญาตจากใคร ดังนั้น ที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ว่าโจทก์ใช้เป็นทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะและท่าปลามาเป็นเวลา 60 ปีเศษได้ภารจำยอม บัดนี้จำเลยล้อมรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กปิดกั้นทางผ่านของโจทก์ จึงเป็นเรื่องโจทก์ฟ้องว่าได้ภารจำยอม โดยทางอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 ครอบคลุมถึงอายุความได้ภารจำยอมด้วย ผู้ใดจะยกอายุความขึ้นอ้างกับวัดในเรื่องที่ดินของวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ไม่ได้
แม้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มิได้บัญญัติไว้ถึงเรื่องวัดร้างวัดร้างก็หาได้เสียสภาพจากการเป็นวัดไปไม่ (อ้างฎีกาที่ 44/2464 และฎีกาที่ 966/2474)
จำเลยจะปลูกสร้างอาคารและรั้วผิดเทศบัญญัติหรือไม่ก็ตามเมื่อไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของทางฝ่ายพนักงานปกครองและเทศบาลที่จะจัดการกับจำเลย หาใช่หน้าที่ของโจทก์ไม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเกี่ยวกับการปลูกสร้างผิดเทศบัญญัติ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยได้รับมรดกจากมารดาโจทก์และบุคคลซึ่งอาศัยครอบครองอยู่ในที่ดินนี้ได้อาศัยเดินออกไปสู่ถนนสุขาภิบาลและออกไปสู่ท่าปลาริมคลองมหาชัยหรือขนสิ่งจำเป็นต่าง ๆ เช่น ขนส่งสินค้าอันเป็นการค้าขายตามปกติของโจทก์ผ่านและวางของในที่ดินวัดโพธิ์งามมาประมาณ 60 ปีแล้ว โดยโจทก์ไม่มีทางอื่นออกสู่ถนนสาธารณะได้จนกระทั่งที่ดินวัดโพธิ์งามตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์แล้ว ครั้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2513 จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เช่าที่ดินของวัดโพธิ์งาม (วัดร้าง) ทั้งแปลง และอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ปลูกสร้างอาคารตึก 3 ชั้นต่อจากอาคาร 2 ชั้นเดิม เป็นอาคารทึบแสงแดดและลมผ่าน ทั้งมีระเบียงรอบอาคาร และยินยอมให้จำเลยที่ 2, 3 ล้อมรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กสูงประมาณ 3 เมตร ห่างที่ดินของโจทก์ 50 เซนติเมตร ตลอดแนวปิดกั้นทางผ่านของโจทก์ โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาแกล้งโจทก์และผู้อาศัยค้าขายที่ตึกแถวในที่ดินของโจทก์ให้ได้รับความเดือดร้อนและทับทางภารจำยอมของโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางเดินผ่านได้อย่างเดิมการก่อสร้างดังกล่าวเป็นการกระทำผิดเทศบัญญัติ จำเลยที่ 3 ในฐานะเทศมนตรีทราบดีอยู่แล้ว ยังอนุญาตให้สร้างได้เพราะมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ การกระทำของจำเลยทำให้ห้องแถวของโจทก์ 3 ห้อง ซึ่งให้ผู้อื่นเช่าต้องเปิดไฟตลอดวันและอากาศถ่ายเทเข้าออกไม่ได้ ขนถ่ายสินค้าและใช้เป็นสถานการค้าอย่างเดิมไม่ได้ทำให้ผู้เช่าเดิมไม่ประสงค์จะเช่า ทำให้โจทก์ต้องเสียหายและต้องขาดประโยชน์ในทางการค้า ขอให้พิพากษาว่าที่วัดโพธิ์งามตกเป็นภารจำยอมในเรื่องทางของที่ดินโจทก์ ห้ามจำเลยขัดขวาง และให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอม หรือถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยร่วมกันรื้อกำแพงและตึก 3 ชั้น ให้ห่างจากแนวเขตของโจทก์ไม่น้อยกว่า 3 เมตร และให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่าที่ดินของโจทก์มีทางออก 4 ทาง และมีที่ดินของผู้อื่นซึ่งเดิมเป็นที่แปลงเดียวกับที่โจทก์ ถ้าโจทก์ถูกปิดล้อมโจทก์ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเดินออกบนที่ดินนั้นซึ่งได้แบ่งแยกที่ดินแปลงเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 เดิมที่ดินวัดโพธิ์งามจำเลยที่ 1 ให้บริษัทรถไฟแม่กลองเช่า เมื่อกิจการรถไฟโอนให้การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 ก็ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเช่าต่อมา การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ทำรั้วกั้นระหว่างที่ดินแปลงนี้กับที่ดินของโจทก์ โจทก์และมารดาโจทก์เคยฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทยกับพวก ขอให้เปิดรั้วและเรียกค่าเสียหายตามคดีหมายเลขแดงที่ 8, 9, 10/2500 ศาลพิพากษายกฟ้อง การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รื้อรั้วออกยังไม่ถึง 10 ปี โจทก์จะนำการได้สิทธิโดยอายุความมาใช้กับที่ดินของวัดไม่ได้ เพราะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34, 35 จำเลยที่ 2 มิได้ปลูกสร้างอาคารใกล้แนวเขตที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 มิได้ร่วมละเมิดด้วย จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เช่าที่ดินวัดแปลงนี้เพื่อก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือประมงและโดยสาร และการก่อสร้างก็ทำถูกต้องตามเทศบัญญัติแล้ว การก่อสร้างอาคารและรั้วไม่ได้ปิดบังแสงสว่างและปิดบังทิศทางลมตึกแถวโจทก์ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย เพราะก่อนที่จำเลยที่ 2 จะทำรั้วปิดกั้นเขตที่ดินและก่อสร้างอาคารหน้าตึกแถวของโจทก์ก็เคยมีรั้วของการรถไฟปิดกั้นมาแล้ว ค่าเสียหายที่โจทก์เป็นการกะและคาดคะเนเอาเองสูงเกินควร เพราะจำเลยที่ 2 เพิ่งกั้นรั้วและสร้างอาคารก่อนโจทก์ฟ้องประมาณ 3 เดือน ทั้งฟ้องของโจทก์คดีนี้ก็เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 8, 9, 10/2500 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า รั้วและอาคารที่จำเลยที่ 2 ปลูกสร้างนี้ได้สร้างโดยถูกต้องตามเทศบัญญัติ ถ้าผิดเทศบัญญัติก็อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้รื้อถอนที่ดินของโจทก์มีทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะได้สะดวกหลายทาง เดิมที่ดินของโจทก์กับที่ดินของนายสุวิทย์และนางอาภาเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ถ้าโจทก์ถูกปิดล้อมทางด้านที่ดินของนายสุวิทย์และนางอาภาแล้ว โจทก์ก็ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเดินออกบนที่ดินของนายสุวิทย์และนางอาภาที่ได้แบ่งแยกมา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 เกี่ยวกับรั้วที่ดินระหว่างที่ดินโจทก์กับที่ดินวัดโพธิ์งาม โจทก์และมารดาโจทก์เคยฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทยขอให้รื้อรั้ว ตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 8, 9, 10/2500 ศาลได้พิพากษายกฟ้อง ผลแห่งคำพิพากษานี้ย่อมผูกพันและบังคับโจทก์มิให้กล่าวอ้างขึ้นมาฟ้องอีก รั้วนี้เพิ่งรื้อเมื่อภายหลังศาลได้พิพากษาแล้วยังไม่ถึง 10 ปี การได้สิทธิภารจำยอมเหนือที่ดินของวัดโดยอายุความนั้นจะนำมาใช้กับวัดไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 โจทก์ไม่เสียหายเพราะโจทก์ไม่มีห้องแถวให้เช่า ห้องของโจทก์มืดเพราะโจทก์ปลูกสร้างอาคารชิดเขตที่ดินของโจทก์มากเกินไป เว้นไว้เพียง 25 เซนติเมตร ขัดต่อพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง รั้วอาคารที่จำเลยสร้างโปร่งแสงกว่ารั้วที่การรถไฟสร้างที่โจทก์ฟ้องในคดีก่อน และจำเลยปลูกสร้างรั้วโดยชอบด้วยกฎหมาย ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องสูงเกินไป จำเลยที่ 3 กระทำไปโดยสุจริตในหน้าที่ นายกเทศมนตรีไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 8, 9, 10/2500 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร และคำพิพากษาในคดีก่อนยังมีผลผูกพันโจทก์การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ ที่ดินพิพาทเป็นของวัดโพธิ์งามซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ ไม่อาจตกอยู่ในภารจำยอมแก่อสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ได้ และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงอื่นตามที่โจทก์อุทธรณ์อีก จำเลยมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย การปลูกสร้างอาคารก็ไม่ผิดพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างหรือเทศบัญญัติแต่อย่างใด ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จะฟ้องให้รื้อถอนไม่ได้ ไม่ต้องวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 และค่าเสียหายของโจทก์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในเรื่องฟ้องซ้ำ ในคดีก่อนศาลพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์โดยยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ที่ว่า โจทก์เดินเข้าออกที่สะพานปลาไม่จำเป็นต้องรับอนุญาตจากใคร ในคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ใช้เป็นทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะและท่าปลาริมคลองมหาชัยเป็นเวลา 60 ปีเศษ ได้ภารจำยอม บัดนี้จำเลยล้อมรั้วปิดกั้นทางผ่านของโจทก์ เป็นเรื่องที่โจทก์ว่าได้ภารจำยอมโดยทางอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำดังที่จำเลยอ้างมาในคำแก้ฎีกา ประเด็นที่ว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองในทางภารจำยอมแล้วจริงหรือไม่ เห็นว่าที่ดินอันเป็นภารทรัพย์ เป็นที่ดินของวัดโพธิ์งาม ในเรื่องที่ดินของวัดนี้มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 บัญญัติไว้ว่า “ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ และห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์” ดังนั้น อายุความที่วัดต้องเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอายุความที่วัดไม่เสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่ที่ดินของวัดต้องรับภาระใด ๆ จากที่ดินของบุคคลอื่น ก็อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัตินี้เช่นเดียวกันมาตรา 34 จึงครอบคลุมถึงอายุความได้ภารจำยอมด้วย และเห็นว่าแม้วัดโพธิ์งามจะเป็นวัดร้างและพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มิได้บัญญัติไว้ถึงเรื่องวัดร้าง วัดร้างก็หาได้เสียสภาพจากการเป็นวัดไปไม่ ดังนัยฎีกาที่ 84/2464 และฎีกาที่ 966/2474 โจทก์จะยกอายุความได้ภารจำยอมขึ้นอ้างกับวัดซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ใช้ทางเดินผ่านมาช้านานเพียงใด ในเรื่องละเมิดนั้นเห็นว่าจำเลยที่ 2 มิได้กระทำการละเมิด เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นละเมิดก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่าจะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ส่วนเรื่องจำเลยปลูกสร้างอาคารและกั้นรั้วผิดเทศบัญญัติหรือไม่ เป็นหน้าที่ของฝ่ายพนักงานปกครองและเทศบาลที่จะจัดการกับจำเลย มิใช่หน้าที่ของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเกี่ยวกับการปลูกสร้างผิดเทศบัญญัติ
พิพากษายืน