คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1029-1030/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อที่โจทก์ฟ้องว่าได้ครอบครองที่พิพาทเป็นส่วนสัดเมื่อศาลมิได้ยกขึ้นเป็นประเด็นข้อพิพาท และคู่ความมิได้โต้แย้งย่อมเป็นอันระงับไม่มีข้อพิพาท
คดีแพ่งระหว่างอิสลามศาสนิกในเขตจังหวัดนราธิวาส ใช้กฎหมายอิสลามบังคับเฉพาะแต่กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกซึ่งใช้บังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นซึ่งต้องให้ดะโต๊ะยุติธรรมหนึ่งนายนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา และดะโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาด้วยนั้น หมายถึงเฉพาะลงลายมือชื่อในคำพิพากษาที่พิพากษาตามคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลาม
คดีมีประเด็นข้อพิพาททั้งที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายอิสลามและไม่เกี่ยวปะปนกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษามาโดยไม่มีดะโต๊ะยุติธรรมร่วม ย่อมไม่ชอบเฉพาะแต่ข้อพิพาทที่ต้องใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทอื่น ซึ่งมิใช่ข้อกฎหมายอิสลาม เพราะกระบวนพิจารณาและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในประเด็นข้ออื่นหาเสื่อมเสียไม่ ต่อเมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นข้ออื่นแล้วคดียังไม่ยุติ ยังมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามกฎหมายอิสลามต่อไป จึงจำเป็นที่การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นในประเด็นดังกล่าวต้องดำเนินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามฯ
เมื่อศาลอุทธรณ์ด่วนยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่วินิจฉัยประเด็นข้ออื่นซึ่งไม่เกี่ยวกับกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ศาลฎีกาย่อมพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ตามแนวข้อวินิจฉัยของศาลฎีกา

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษาร่วมกัน โดยโจทก์ฟ้องขอแบ่งแยกที่ดินมรดกนายหะมะ บิดานางลีเยาะ โจทก์ สามีนางวาแมะโจทก์ อ้างว่าโจทก์จำเลยและทายาทได้ตกลงประนีประนอมต่อหน้าโต๊ะอิหม่ำเป็นหนังสือ แล้วได้ครอบครองเป็นส่วนสัด

จำเลยต่อสู้ว่า บิดาจำเลยครอบครองที่พิพาทแต่ผู้เดียวโต๊ะอิหม่ำแบ่งมรดกไม่ถูกกฎหมายอิสลาม โจทก์ไม่มีสิทธิรับมรดกจำเลยมิได้ลงชื่อในสัญญาแบ่งมรดกและบอกล้างแล้ว จำเลยครอบครองที่พิพาทฝ่ายเดียว คดีขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็น 6 ข้อพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นของนายหะมะตกเป็นมรดก การแบ่งมรดกทำโดยชอบด้วยกฎหมายอิสลามจำเลยไม่มีสิทธิบอกล้าง ทายาทได้ครอบครองที่พิพาทร่วมกันมาคดีไม่ขาดอายุความสัญญาแบ่งมรดกบังคับได้ จำเลยบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายอิสลามแล้ว สัญญาแบ่งมรดกจึงสมบูรณ์ พิพากษาให้จำเลยไปทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ปรึกษาว่า โจทก์จำเลยเป็นอิสลามศาสนิกในเขตจังหวัดนราธิวาส คดีนี้เป็นคดีมรดก การพิจารณาในศาลชั้นต้นต้องมีดะโต๊ะยุติธรรมนั่งพิจารณาร่วม มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามและลงชื่อในคำพิพากษาด้วย แต่ในสำนวนไม่ปรากฏ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้อง พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีระหว่างอิสลามศาสนิกในเขตจังหวัดนราธิวาส แต่การใช้กฎหมายอิสลามบังคับ ก็ใช้เฉพาะกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกซึ่งใช้บังคับแทนบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูลพ.ศ. 2489 มาตรา 3 ส่วนที่ว่าการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นต้องมีดะโต๊ะยุติธรรมนายหนึ่งนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา และดะโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดกฎหมายอิสลาม และลงลายมือชื่อในคำพิพากษาด้วยนั้น ตามมาตรา 4 บัญญัติให้ดะโต๊ะยุติธรรมลงชื่อในคำพิพากษาที่พิพากษาตามคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามด้วยเท่านั้น คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาททั้งที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายอิสลามและที่มิใช่ข้อกฎหมายอิสลามปะปนกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีมาโดยไม่มีดะโต๊ะยุติธรรมร่วมและวินิจฉัยลงชื่อด้วยการพิจารณาพิพากษาไม่ชอบก็เฉพาะ แต่ข้อพิพาทที่ต้องใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกซึ่งต้องมีดะโต๊ะยุติธรรมวินิจฉัยและลงชื่อในคำพิพากษาเท่านั้น การพิจารณาพิพากษาในประเด็นข้ออื่นหาอยู่ในบังคับที่ต้องมีดะโต๊ะยุติธรรมร่วมด้วยไม่ ศาลอุทธรณ์ด่วนยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งหมด รวมทั้งในประเด็นที่มิใช่การวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามด้วย จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและมาสู่ศาลอุทธรณ์ในข้อที่ว่าที่พิพาทเป็นของนายหะมะตกเป็นมรดกดังฟ้องหรือเป็นของบิดาจำเลยครอบครองมาดังจำเลยต่อสู้และการแบ่งมรดกนี้ได้ทำโดยสัญญา สัญญานี้ใช้บังคับได้หรือไม่เพราะจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยยังเป็นผู้เยาว์และได้บอกล้างแล้ว ทั้งไม่มีลายมือชื่อจำเลยด้วย และคดีขาดอายุความแล้วหรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทเหล่านี้มิใช่ข้อกฎหมายอิสลาม แม้ดะโต๊ะยุติธรรมมิได้ร่วมพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ก็ไม่ทำให้กระบวนพิจารณาและคำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อนี้เสื่อมเสีย ส่วนประเด็นที่ว่า โจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทตามหนังสือแบ่งมรดกเป็นส่วนสัดนั้น ศาลชั้นต้นมิได้ยกขึ้นเป็นประเด็น และโจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งจึงระงับ ต่อเมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นเหล่านี้แล้ว คดียังไม่ยุติ ยังมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยแบ่งมรดกตามกฎหมายอิสลามต่อไป จึงจำเป็นที่การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นในประเด็นข้อนี้ต้องดำเนินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามฯ

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ตามแนวข้อวินิจฉัยข้างต้น

Share