คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1028/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยต่างเป็นผู้เช่าที่ดินของวัดปลูกเรือนอาศัยอยู่จำเลยได้ปล่อยปละละเลยให้ต้นมะม่วงที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่จำเลยเช่าแผ่กิ่งก้านสาขาเข้ามาปกคลุมหลังคาเรือนโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยฐานละเมิดและเรียกค่าเสียหายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นผู้เช่าที่ดินของวัดปลูกบ้านเรือนอาศัยติดต่อกัน จำเลยปล่อยปละละเลยให้ต้นมะม่วง 3 ต้น ซึ่งขึ้นอยู่ในที่ซึ่งจำเลยเช่าแผ่กิ่งก้านสาขาล้ำเข้ามาปกคลุมเรือนโจทก์ด้านหลัง ต้นมะม่วงต้นหนึ่งทอดเอนเข้ามาในระดับต่ำ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถสร้างกำแพงบ้านให้เสร็จไปได้ เพราะไปติดต้นมะม่วงเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายตามรายการคิดเป็นเงิน 4,000 บาท ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยตัดหรือรานต้นหรือกิ่งมะม่วงที่รุกล้ำในที่ดินที่โจทก์ครอบครองและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายด้วย

จำเลยให้การสู้คดี และตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คู่ความตกลงกันขอให้ศาลชี้ขาดในปัญหาข้อเดียวว่า “การที่โจทก์ครอบครองที่เช่าแล้วปลูกบ้านของโจทก์ลงในที่เช่า โจทก์จะมีอำนาจฟ้องจำเลยในประเด็นที่ว่าจำเลยได้ปล่อยปละละเลยให้ต้นมะม่วงแผ่กิ่งก้านสาขาเข้ามาปกคลุมหลังคาเรือนโจทก์หรือไม่” ถ้าวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยยอมรับผิดใช้ค่าเสียหายเต็มตามฟ้อง ถ้าวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ยอมแพ้คดี

ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 พิพากษาให้จำเลยแพ้คดี

จำเลยทั้ง 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434 จำเลยต้องแพ้คดีตามคำท้า พิพากษายืนในผล

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า รูปคดีไม่ใช่เรื่องแดนแห่งกรรมสิทธิ์แต่เป็นเรื่องความบกพร่องในการใช้ความระมัดระวังหรือบำรุงรักษาของผู้ครองในการปลูกฤาค้ำจุนต้นไม้ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นเมื่อโจทก์เป็นผู้ได้รับความเสียหาย ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้ครองได้ ฯลฯ

พิพากษายืน

Share