คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1026/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลมีข้อความว่า “ถ้าโจทก์จะขายที่ดินดังกล่าว ต้องขายที่ให้จำเลยในราคา 2,000 บาท เว้นแต่จำเลยไม่ซื้อภายใน 2 เดือน จึงให้โจทก์ขายที่ดินดังกล่าวได้” นั้นหมายความเฉพาะในกรณีขายที่ดิน การที่กำหนดไว้ว่าถ้าจะขายต้องขายในราคา 2,000 บาท ยิ่งแสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีว่า เจตนาจะผูกมัดในเมื่อจะขายที่ดินพิพาทเท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธินำที่ดินพิพาทนั้นไปแลกเปลี่ยนกับที่ดินของบุคคลอื่นได้โดยไม่ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๔๙๙ จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ไว้ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๓๔๑/๒๔๙๙ มีข้อความว่า (๔) ถ้าโจทก์จะขายที่ดินดังกล่าว ต้องขายที่ให้จำเลยในราคา ๒,๐๐๐ บาท เว้นแต่จำเลยไม่ซื้อภายใน ๒ เดือน จึงให้โจทก์ขายที่ดังกล่าวได้ ต่อมาวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๐๕ จำเลยที่ ๑ ได้เอาที่พิพาทโอนยกให้จำเลยที่ ๒ โดยมิได้บอกขายให้โจทก์ก่อน แล้วจำเลยที่ ๒ ได้โอนขายให้จำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๒,๓ รู้ว่าจำเลยที่ ๑ ต้องขายที่พิพาทให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมและบังคับให้จำเลยที่ ๑ ขายที่พิพาทให้โจทก์
จำเลยทั้ง ๓ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คำว่า “ขาย” ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น หมายถึง”โอน”นั่นเอง หมายความว่าถ้าจำเลยที่ ๑ จะโอนที่พิพาทแล้วต้องโอนให้โจทก์ก่อน ถ้าโจทก์ไม่รับโอน จำเลยที่ ๑ จึงจะโอนให้คนอื่นได้ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ ๑ ได้โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ ๒ โดยมิได้บอกขายให้โจทก์ก่อน จึงผิดสัญญาประนีประนอมความ จำเลยที่ ๑ ไม่สุจริต ปัญหาว่าจำเลยที่ ๒ รับโอนโดยสุจริตหรือไม่เห็นว่า โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ รับโอนโดยไม่สุจริต ที่พิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จะจำหน่ายจ่ายโอนแก่บุคคลใดต่อไปก็ย่อมทำได้ พิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ แลกเปลี่ยนที่ดินพิพาทกับที่ดินของจำเลยที่ ๒ หมายถึงการโอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๒ นั่นเอง จำเลยที่ ๑ เจตนาหลีกเลี่ยงข้อผูกพันซึ่งมีต่อกัน เป็นผิดต่อสัญญาประนีประนอมยอมความ พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๔ กำหนดข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ไว้อย่างชัดแจ้งว่า ถ้าจำเลยที่ ๑ จะขายที่พิพาท จะต้องบอกขายโจทก์ก่อน ถ้าโจทก์ไม่ซื้อ จำเลยที่ ๑ จึงจะขายคนอื่นได้ ซึ่งย่อมหมายความเฉพาะในกรณีจำเลยที่ ๑ จะขายที่ดินพิพาท การที่กำหนดไว้ว่าถ้าจะขายให้โจทก์ ต้องขายในราคา ๒,๐๐๐ บาท ยิ่งแสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีว่าเจตนาจะผูกมัดจำเลยที่ ๑ ในเมื่อจำเลยที่ ๑ จะขายที่พิพาทเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าหากจำเลยที่ ๑ บอกโจทก์ว่าจะแลกเปลี่ยนที่ดินพิพาทกับที่ดินของจำเลยที่ ๒ โจทก์ก็ไม่มีทางที่จะขัดขวาง โจทก์จะบังคับให้จำเลยที่ ๑ ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ในราคา ๒,๐๐๐ บาท ตามสัญญาได้อย่างไร ในเมื่อจำเลยที่ ๑ มิได้ขายที่ดินพิพาท คดีโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ พิพากษายืน

Share