คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 เป็นบทบัญญัติลงโทษเจ้าพนักงานที่ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตเกี่ยวกับการมีหน้าที่เป็นผู้ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ โดยเฉพาะ การที่แบบพิมพ์ใบสุทธิอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นครูใหญ่ ก็เพียงเพื่อออกเป็นใบสุทธิให้แก่นักเรียนที่ออกไปจากโรงเรียนซึ่งจำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการออกใบสุทธินี้ตามระเบียบ ถ้าจำเลยนำไปใช้ในทางที่ไม่ตรงต่อความจริงและผิดระเบียบ ก็เป็นเรื่องผิดหน้าที่ในการใช้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่ในการรักษาตามความมุ่งหมายของมาตรานี้
เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานออกใบสุทธิในหน้าที่โดยจดเปลี่ยนแปลงข้อความ ไม่ตรงต่อความจริงและผิดระเบียบเพื่อให้จำเลยที่ 3 นำไปแสดงต่อผู้บังคับบัญชาในการขอบำเหน็จความชอบนั้น ก็ได้ชื่อว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการนี้ เมื่อได้ร่วมกับเจ้าพนักงานในการกระทำความผิด ก็ย่อมมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำผิดด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดนิลาเทเวศน์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งครูใหญ่มีหน้าที่ออกใบสุทธิให้แก่นักเรียนที่ออกไปจากโรงเรียนตามระเบียบ จำเลยที่ ๒ เป็นครูน้อยโรงเรียนดังกล่าว จำเลยที่ ๓ เป็นทหารสารวัตรประจำค่ายทหารบกสุรินทร์ จำเลยทั้ง ๓ ร่วมกันทำใบสุทธิอันเป็นเอกสารราชการและเป็นเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จขึ้น ๑ ฉบับ โดยนำเอาข้อความซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นเท็จกรอกลงในใบสุทธิอันเป็นทรัพย์ของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ ๑ ตามหน้าที่ โดยจำเลยที่ ๓ เป็นผู้นำรูปถ่ายของจำเลยมาเพื่อติดในใบสุทธิและแจ้งให้จำเลยที่ ๑ ออกใบสุทธิแสดงว่าจำเลยที่ ๓ เรียนจบหลักสูตรชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้จดกรอกข้อความเท็จลงในแบบพิมพ์ใบสุทธิด้วยข้อความแสดงว่าจำเลยที่ ๓ เป็นนักเรียนวัดนิลาเทเวศน์ เรียนจบหลักสูตรชั้นประถมปีที่ ๔ ออกจากโรงเรียนเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๔๘๘ พร้อมกับติดรูปถ่ายที่จำเลยที่ ๓ นำมาลงในใบสุทธิดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ลงชื่อรับรองในช่องครูใหญ่มอบให้จำเลยที่ ๓ นำไปแสดงต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าจำเลยที่ ๓ เรียนจบหลักสูตรชั้นประถมปีที่ ๔ ซึ่งความจริงจำเลยทุกคนรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ ๓ เรียนไม่จบชั้นประถมปีที่ ๔ ตามระเบียบจะออกใบสุทธิไม่ได้ จำเลยที่ ๑ อาศัยตำแหน่งหน้าที่กระทำโดยมิชอบและทุจริตเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อ น่าจะเกิดความเสียหายแก่กระทรวงศึกษาธิการ ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๓ รวมทั้งสาธารณชนและทางราชการของรัฐ
ต่อมาจำเลยที่ ๓ ได้บังอาจนำเอาความเท็จและใบสุทธิที่จำเลยร่วมกันกระทำดังกล่าวไปแจ้งและยื่นแสดงต่อจ่าสิบโทแสงจันทร์ ทันวัน เจ้าหน้าที่ผู้ทำเรื่องราวเกี่ยวกับบำเหน็จความชอบของทหารสารวัตรเสนอต่อผู้บังคับบัญชาและผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุรินทร์ แสดงว่าจำเลยที่ ๓ มีความรู้เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาหลงเชื่อและพิจารณาบำเหน็จความชอบให้แก่จำเลยที่ ๓
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๗,๑๕๑,๑๕๗,๑๖๒,๒๖๗,๘๓,๘๖
จำเลยที่ ๑,๒ ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ ๓ ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธ คงดำเนินคดีต่อไปเฉพาะจำเลยที่ ๓
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่ผิดตามมาตรา ๑๕๑,๑๕๗,๑๖๒,แต่เป็นผิดตามมาตรา ๑๓๗,๒๖๗ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๗ จำคุกจำเลย ๒ ปี ลดกึ่งหนึ่ง เหลือ ๑ ปี ให้รอการลงโทษไว้ในกำหนด ๒ ปี
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๑,๑๕๗,๑๖๒
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำที่โจทก์บรรยายในฟ้อง ยังไม่เข้าลักษณะที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๑,๑๕๗ แต่ปรับเข้ามาตรา ๑๖๒ ได้ แม้จำเลยจะมิใช่เจ้าพนักงาน แต่ได้ร่วมมือกับเจ้าพนักงาน ก็มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒,๘๖ จำคุก ๒ ปี ลดโทษให้ตามมาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ ปี ให้รอการลงโทษภายใน ๒ ปี
โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายเข้าลักษณะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๑,๑๕๗ แล้ว
ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา ๑๕๑ เป็นบทบัญญัติลงโทษเจ้าพนักงานที่ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตเกี่ยวกับการมีหน้าที่เป็นผู้ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ โดยเฉพาะแม้แบบพิมพ์ใบสุทธินี้จะอยู่ในความดูแลรักษาของนายเปล่งจำเลยที่ ๑ ก็ตาม ก็เพียงเพื่อออกเป็นใบสุทธิให้แก่นักเรียนที่ออกไปจากโรงเรียนซึ่งนายเปล่งจำลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ในการออกใบสุทธินี้ตามระเบียบ ถ้าจำเลยที่ ๑ นำไปใช้ในทางที่ไม่ตรงต่อความจริง และผิดระเบียบ ก็เป็นเรื่องผิดหน้าที่ในการใช้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่ในการรักษาตามความมุ่งหมายของมาตรานี้
ส่วนมาตรา ๑๕๗ นั้น เมื่อข้อเท็จจริงที่จำเลยรับฟังได้ว่า นายเปล่งจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานออกใบสุทธิในหน้าที่โดยจดเปลี่ยนแปลงข้อความ ไม่ตรงต่อความจริงและผิดระเบียบเพื่อให้จำเลยที่ ๓ นำไปแสดงต่อผู้บังคับบัญชาในการขอบำเหน็จความชอบนั้น ก็ได้ชื่อว่านายเปล่งจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ราชการทหารอยู่ในตัว ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ แม้จำเลยจะไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการนี้ก็ตาม เมื่อได้ร่วมมือกับเจ้าพนักงานในการกระทำความผิด ก็ย่อมมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำผิดนี้ด้วย.
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ด้วย ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ อันเป็นบทหนักตามมาตรา ๙๐ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share