คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1025/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินของจำเลยเคยตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ยอมให้โจทก์ใช้น้ำจากคูน้ำ อ่างเก็บน้ำและทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะ ต่อมาจำเลยปิดกั้นไม่ยอมให้โจทก์ใช้น้ำจากคูน้ำ อ่างเก็บน้ำ และทางเดิน ขอให้บังคับจำเลยยอมให้โจทก์ใช้น้ำจากคูน้ำ อ่างเก็บน้ำ และทางเดินออกไปสู่ถนนสาธารณะและนำที่ดินของจำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตามเดิม เพราะการที่โจทก์และจำเลยจดทะเบียนยกเลิกภารจำยอมนั้นเป็นการช่วยเหลือโจทก์ให้นำที่ดินไปจำนองแก่ธนาคารโดยไม่มีเจตนาที่จะยกเลิกภารจำยอมกันอย่างแท้จริงแม้โจทก์จะไม่บรรยายฟ้องว่าทางภารจำยอมกว้างยาวเท่าใดเครื่องสูบน้ำอยู่บริเวณใด ก็เป็นเพียงรายละเอียด เพราะที่ดินของจำเลยเคยจดทะเบียนตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์มาก่อนแล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องโดยกล่าวถึงข้อเท็จจริงและวัตถุประสงค์ในการมีคูน้ำและอ่างเก็บน้ำโดยระบุว่าโจทก์จำเลยรู้ถึงวัตถุประสงค์นั้น จึงช่วยกันเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายในการขุดคูน้ำและทำอ่างเก็บน้ำ และศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นเรื่องการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในที่ดินของจำเลยเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ไว้ด้วย จึงเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิจารณาว่าข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฟ้องนั้นมีกฎหมายข้อใดบัญญัติให้โจทก์เกิดสิทธิในการใช้น้ำในสถานที่ดังกล่าวโดยจำเลยไม่มีสิทธิขัดขวางบ้างหรือไม่ หากมีบัญญัติไว้ศาลย่อมหยิบยกขึ้นมาปรับบทแก่คดีของโจทก์ได้ ไม่จำเป็นที่ศาลจะพิพากษาให้สิทธิโจทก์เฉพาะบทกฎหมายที่โจทก์อ้างเท่านั้น ทั้งศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แล้วที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาในประเด็นดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141(5) และมาตรา 142 โจทก์และจำเลยตกลงให้มีการขุดคูน้ำ ทำท่อลอดถนนและสร้างอ่างเก็บน้ำในที่ดินของจำเลยตามที่ จ. แนะนำโดยประสงค์จะให้บุตรทุกคนที่ จ. แบ่งปันที่ดินให้ มีน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรมในที่ดินของตน โดยให้บุตรทุกคนที่ได้รับแบ่งปันที่ดินเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายตามส่วนที่ได้รับที่ดินจำเลยก็ร่วมเฉลี่ยออกค่าจ้างด้วย จนการขุดคูน้ำ ทำท่อลอดถนนและสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าวแล้วเสร็จ แสดงว่าจำเลยรับรู้เจตนาของ จ. และยอมรับการกระทำของ จ. จึงมีผลเท่ากับโจทก์และจำเลยยอมรับกันโดยปริยายว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยมีสัญญาต่างตอบแทนว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยมีสิทธิใช้น้ำจากคูน้ำและอ่างเก็บน้ำตลอดระยะเวลาที่โจทก์และจำเลยทำเกษตรกรรมในที่ดินของตนตลอดไป จำเลยจึงไม่มีสิทธิห้ามโจทก์ใช้น้ำดังกล่าว การจดทะเบียนเลิกภารจำยอมเป็นไปเพื่อช่วยเหลือโจทก์ให้สามารถนำที่ดินของโจทก์ไปจำนองแก่ธนาคารได้เท่านั้นจึงเชื่อได้ว่า มิใช่มีเจตนาจดทะเบียนยกเลิกภารจำยอมเนื่องจากจะให้ภารจำยอมสิ้นไปหรือโจทก์และจำเลยตกลงที่จะไม่ให้มีภารจำยอมอีกต่อไปเพราะภารจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์แล้ว การจดทะเบียนเลิกภารจำยอมด้วยเจตนาดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยกันระหว่างโจทก์และจำเลยจึงตกเป็นโมฆะ ปัญหาที่ว่านิติกรรมใดเป็นโมฆะหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปได้ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นบุตรของนางเจือและนายทรงธงพาณิชยื นางเจือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1871ต่อมานางเจือแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็น 7 แปลงแล้วยกให้โจทก์จำเลยและบุตรอื่นทำสวนและปลูกบ้านอยู่อาศัยที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 25045 เนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวายกให้แก่จำเลย ที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 25046 เนื้อที่ 7 ไร่ยกให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 25047 เนื้อที่ 7 ไร่ยกให้แก่นางสาวกราศรี ธงพาณิชย์ แต่นางสาวกราศรีแบ่งขายให้แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 2 ไร่ ที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 25048เนื้อที่ 7 ไร่ ยกให้แก่โจทก์ที่ 3 ที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 25049,25050 และ 1871 รวมเนื้อที่ 22 ไร่ ยกให้บุตรอีก 2 คนกับโจทก์ที่ 1 แต่บุตร 2 คน ดังกล่าวขายให้แก่โจทก์ที่ 1การทำสวนในที่ดินดังกล่าวต้องใช้น้ำในคลองรังสิต นางเจือจึงยื่นคำขออนุญาตต่อกรมทางหลวงทำท่อลอดใต้ถนนเชื่อมระหว่างคลองรังสิตกับที่ดินแบ่งแยกและขุดคูระบายน้ำทางด้านทิศตะวันออกผ่านที่ดินทุกแปลงและนำที่ดินที่ขุดทำถนนกว้าง 8 เมตร ยาว1,600 เมตร ตลอดคูระบายน้ำเพื่อเป็นทางเข้าออกที่ดินทุกแปลงไปสู่ทางหลวงหมายเลข 305 และทำอ่างเก็บน้ำคอนกรีตในที่ดินของจำเลยเพื่อเก็บน้ำจากท่อลอด โดยนางเจือให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉลี่ยกันออกค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินทุกแปลงต่อมาเดือนเมษายน 2529 โจทก์และจำเลยร่วมกันนำโฉนดที่ดินทุกแปลงไปจดทะเบียนภารจำยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยมีสิทธิใช้ถนนเป็นทางเดินเข้าออก ใช้คูน้ำและอ่างเก็บน้ำคอนกรีตเพื่อนำน้ำไปใช้ในการทำสวน เดือนพฤศจิกายน 2529 โจทก์ที่ 2 จะนำที่ดินโฉนดเลขที่ 25046 ไปจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคาร ทางธนาคารแจ้งให้โจทก์ที่ 2 จดทะเบียนเลิกภารจำยอมก่อนจึงจะพิจารณารับจำนองโจทก์จำเลยจึงไปจดทะเบียนเลิกภารจำยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อสะดวกในการจำนองโดยไม่มีเจตนายกเลิกภารจำยอม โจทก์ยังคงใช้ถนนเป็นทางเดิน ตั้งเครื่องสูบน้ำจากคลองรังสิตผ่านท่อลอดใต้ถนน ผ่านคูน้ำไปสู่ที่ดินของโจทก์จำเลยและยังทำอ่างเก็บน้ำคอนกรีตจนแล้วเสร็จและใช้ประโยชน์ตลอดมา ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2530 นางเจือถึงแก่กรรม จำเลยโกรธเคืองโจทก์และพี่น้องจึงปิดกั้นถนนและน้ำต้นไม้มาปลูกบนทางเดินห้ามไม่ให้โจทก์ใช้ถนนและไม่ยอมให้โจทก์ตั้งเครื่องสูบน้ำจากท่อลอดใต้ถนนและอ่างเก็บน้ำคอนกรีต ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วต้นไม้ที่ปิดกั้นกีดขวางถนนที่ใช้เป็นทางเดินเข้าออกสู่ถนนสาธารณะคือทางหลวงหมายเลข 305 สายธัญบุรี-องครักษ์ให้โจทก์ใช้ถนนผ่านเข้าออกได้ตามปกติและตั้งเครื่องสูบน้ำสูบน้ำจากคลองรังสิตผ่านท่อลอดใต้ทางหลวงสาย 305 เข้าสู่บ่อคอนกรีตเพื่อระบายน้ำไปตามคูน้ำสู่ที่ดินของโจทก์ให้จำเลยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 25045 ตำบลลำผักกูด อำเภอธัญบุรีจังหวัดปทุมธานี ไปจดทะเบียนเป็นภารจำยอมต่อที่ดินโฉนดเลขที่ 25046,25047, 25048, 25049, 25050 และ 1871 ตำบลลำผักกูดอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนภารจำยอมตามคำพิพากษาของศาล ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม นางเจือขออนุญาตดันท่อลอดใต้ทางหลวงและขุดคูน้ำกับสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อประโยชน์ในการทำสวนในที่ดินของนางเจือเอง ถนนทางเดินที่โจทก์ว่าเป็นภารจำยอมมีสิทธิใช้เป็นทางเดินผ่านความจริงเป็นคันดินข้างคูน้ำกว้างเพียง 4 เมตร ยาว 20 เมตรเศษ เท่านั้น จำเลยไม่เคยจดทะเบียนให้โจทก์ใช้คูน้ำอ่างเก็บน้ำคอนกรีต โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนเลิกภารจำยอมอย่างแท้จริง หลังจดทะเบียนเลิกภารจำยอมแล้วโจทก์ไม่เคยใช้ถนนที่เป็นภารจำยอม สิทธิที่โจทก์อ้างว่าเป็นภารจำยอมนั้นยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยได้ และโจทก์ยังไม่ได้ภารจำยอมโดยอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนรั้วต้นไม้ที่ปิดกั้นกีดขวางการใช้ประโยชน์ในภารจำยอมและให้โจทก์ทั้งสามมีสิทธิใช้สอยน้ำจากคลองรังสิตโดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ สูบน้ำจากคลองรังสิตผ่านท่อลอดใต้ทางหลวงสาย 305 เข้าสู่บ่อคอนกรีตเพื่อระบายน้ำไปตามคูน้ำสู่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามและให้การจดทะเบียนเลิกภารจำยอมในสารบัญจดทะเบียนท้ายสำเนาโฉนดเลขที่ 25045, 25046, 25047, 25048, 25049, 25050 และ 1871ตำบลลำผักกูด อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และบันทึกข้อตกลงเรื่องเลิกภารจำยอมตามเอกสารหมาย จ.36 ถึง จ.55 ตกเป็นโมฆะและให้เพิกถอนการจดทะเบียนเลิกภารจำยอมดังกล่าวเสียทั้งหมดคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน มารดาได้แบ่งที่ดินให้โจทก์ทั้งสามและจำเลยรวมทั้งบุตรคนอื่น เมื่อทราบว่าแต่ละคนได้รับส่วนแบ่งที่ดินอยู่ที่ใดแล้ว ได้ร่วมกันขุดคูน้ำนำดินที่ขุดคูน้ำมาทำถนนโดยเฉลี่ยเงินค่าจ้างตามเนื้อที่ดินที่แต่ละคนได้รับและนำที่ดินไปจดทะเบียนภารจำยอมโดยที่ดินส่วนที่จำเลยได้รับตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินที่โจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่นได้รับ ต่อมาโจทก์ที่ 2 ต้องการนำที่ดินไปจำนองธนาคาร โจทก์ทั้งสามจำเลยและบุตรคนอื่นจึงตกลงยกเลิกการจดทะเบียนภารจำยอม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินของจำเลยตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามมีสิทธิใช้ถนนไปสู่ทางสาธารณะใช้คูน้ำ อ่างเก็บน้ำ เพื่อนำน้ำไปใช้ในการทำสวน ต่อมาโจทก์ที่ 2ต้องการกู้เงินจากธนาคาร ทางธนาคารแจ้งว่าโฉนดติดภารจำยอมอยู่จะกู้เงินไม่สะดวกให้ไปจดทะเบียนเลิกภารจำยอมจึงจะพิจารณารับจำนอง โจทก์ทั้งสามและจำเลยจึงตกลงจดทะเบียนเลิกภารจำยอมเพื่อสะดวกในการจำนองที่ดินเป็นประกัน โดยโจทก์ทั้งสามและจำเลยไม่มีเจตนาที่จะยกเลิกภารจำยอม และก็ยังคงใช้คูน้ำ อ่างเก็บน้ำและทางเดินที่เคยจดทะเบียนภารจำยอมจึงขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วต้นไม้ที่ปิดกั้นถนนให้โจทก์ทั้งสามผ่านเข้าออกได้ตามปกติและติดตั้งเครื่องสูบน้ำสูบน้ำจากคลองรังสิตผ่านท่อลอดใต้ทางหลวง 305 เข้าสู่บ่อคอนกรีต เพื่อระบายน้ำไปตามคูน้ำสู่ที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 25045 ของจำเลยไปจดทะเบียนเป็นภารจำยอมต่อที่ดินโฉนดเลขที่ 25046, 25047,25048, 25049, 25050 และ 1871 ของโจทก์ทั้งสาม ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้ว ว่าที่ดินของจำเลยเคยตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ยอมให้โจทก์ทั้งสามใช้น้ำจากคูน้ำ อ่างเก็บน้ำ และทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะ ต่อมาจำเลยปิดกั้นไม่ยอมให้โจทก์ทั้งสามใช้น้ำจากคูน้ำ อ่างเก็บน้ำและทางเดินจึงขอให้บังคับจำเลยยอมให้โจทก์ใช้น้ำจากคูน้ำ อ่างเก็บน้ำ และทางเดินออกไปสู่ถนนสาธารณะ และนำที่ดินของจำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามตามเดิม เพราะการที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยจดทะเบียนยกเลิกภารจำยอมนั้นเป็นการช่วยเหลือโจทก์ที่ 2 ให้นำที่ดินไปจำนองแก่ธนาคารโดยไม่มีเจตนาที่จะยกเลิกภารจำยอมกันอย่างแท้จริงแม้โจทก์จะไม่บรรยายฟ้องว่าทางภารจำยอมกว้างยาวเท่าใดเครื่องสูบน้ำอยู่บริเวณใดก็เป็นเพียงรายละเอียด เพราะที่ดินของจำเลยเคยจดทะเบียนตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามมาก่อนแล้วฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยฎีกาต่อไปว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์มีสิทธิใช้น้ำจากคูน้ำอ่างเก็บน้ำรวมทั้งมีสิทธิตั้งเครื่องสูบน้ำในที่ดินของจำเลยโดยให้เหตุผลว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนเนื่องจากโจทก์จำเลยได้ช่วยกันเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายในการสร้างคูน้ำและอ่างเก็บน้ำไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ฟ้องจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์มีสิทธิใช้น้ำจากคูน้ำและอ่างเก็บน้ำ เพราะเป็นภารจำยอมที่จดทะเบียนไว้แล้ว มิได้อ้างว่าโจทก์มีสิทธิใช้เนื่องจากสัญญาต่างตอบแทนแต่อย่างใด เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141(5) และมาตรา 142 นั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องโดยกล่าวถึงข้อเท็จจริงและวัตถุประสงค์ในการมีคูน้ำและอ่างเก็บน้ำโดยระบุว่าโจทก์จำเลยรู้ถึงวัตถุประสงค์นั้นจึงช่วยกันเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายในการขุดคูน้ำและทำอ่างเก็บน้ำและศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นเรื่องการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในที่ดินของจำเลยเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ไว้ด้วยจึงเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิจารณาว่าข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฟ้องนั้นมีกฎหมายข้อใดบัญญัติให้โจทก์เกิดสิทธิในการใช้น้ำในสถานที่ดังกล่าวโดยจำเลยไม่มีสิทธิขัดขวางบ้างหรือไม่หากมีบัญญัติไว้ศาลย่อมหยิบยกขึ้นมาปรับบทแก่คดีของโจทก์ได้ไม่จำเป็นที่ศาลจะพิพากษาให้สิทธิโจทก์เฉพาะบทกฎหมายที่โจทก์อ้างเท่านั้น ทั้งศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แล้วที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาในประเด็นดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141(5) และมาตรา 142 ส่วนที่ว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิจะใช้น้ำจากคูน้ำ อ่างเก็บน้ำตลอดจนติดตั้งเครื่องสูบน้ำในที่ดินของจำเลยหรือไม่นั้นข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสามนำสืบและจำเลยมิได้โต้แย้งในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงให้มีการขุดคูน้ำทำท่อลอดถนน และสร้างอ่างเก็บน้ำในที่ดินของจำเลย ตามที่นางเจือแนะนำโดยประสงค์จะให้บุตรทุกคนที่ นางเจือแบ่งปันที่ดินให้มีน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรมในที่ดินของตน โดยให้บุตรทุกคนที่ได้รับแบ่งปันที่ดินเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายตามส่วนที่ได้รับที่ดินจำเลยก็ร่วมเฉลี่ยออกค่าจ้างด้วย จนการขุดคูน้ำ ทำท่อลอดถนนและสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าวแล้วเสร็จ แสดงว่าจำเลยรับรู้เจตนาของนางเจือและยอมรับการกระทำของนางเจือ จึงมีผลเท่ากับโจทก์ทั้งสามและจำเลยยอมรับกันโดยปริยายว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยมีสัญญาต่างตอบแทนว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยมีสิทธิใช้น้ำจากคูน้ำและอ่างเก็บน้ำตลอดระยะเวลาที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทำเกษตรกรรมในที่ดินของตนตลอดไป จำเลยจึงไม่มีสิทธิห้ามโจทก์ใช้น้ำดังกล่าว ที่จำเลยอ้างว่านางเจือขุดคูน้ำเพื่อนางเจือเพียงคนเดียวและนางเจือก็ไม่เคยกำหนดเงื่อนไขว่าจำเลยจะต้องยอมให้โจทก์ใช้คูน้ำและน้ำในอ่างเก็บน้ำ มิฉะนั้นจะไม่ยกที่ดินให้แต่อย่างใดนั้น จำเลยก็เบิกความยอมรับว่านางเจือสร้างอ่างเก็บน้ำโดยนำน้ำจากคลองรังสิตผ่านท่อลอดถนนเข้ามาเจ้าของที่ดินทุกแปลงออกเงินสร้างอ่างเก็บน้ำ จำเลยทราบถึงการกระทำนั้นดีแต่จำเลยก็ไม่เคยห้ามปราม แสดงว่าจำเลยยินยอมให้นางเจือทำอ่างเก็บน้ำเพื่อประโยชน์ของเจ้าของที่ดินทุกแปลง
ส่วนจำเลยฎีกาว่า ที่ดินของจำเลยไม่ตกอยู่ในภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ทั้งสาม เพราะโจทก์ทั้งสามและจำเลยได้ตกลงจดทะเบียนเลิกภารจำยอมแล้ว โจทก์ทั้งสามและจำเลยนำสืบรับกันข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การจดทะเบียนเลิกภารจำยอมดังกล่าวเป็นไปเพื่อช่วยเหลือโจทก์ที่ 2 ให้สามารถนำที่ดินของโจทก์ที่ 2ไปจำนองแก่ธนาคารได้เท่านั้น จึงเชื่อได้ว่ามิใช่มีเจตนาจดทะเบียนยกเลิกภารจำยอมเนื่องจากจะให้ภารจำยอมสิ้นไปหรือโจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงที่จะไม่ให้มีภารจำยอมอีกต่อไปเพราะภารจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์แล้วการจดทะเบียนเลิกภารจำยอมด้วยเจตนาดังกล่าว จึงเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยกันระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยฎีกาต่อมาว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การจดทะเบียนเลิกภารจำยอมตกเป็นโมฆะเป็นการพิพากษานอกเหนือจากคำฟ้องและคำขอของโจทก์นั้น เห็นว่าปัญหาที่ว่านิติกรรมใดเป็นโมฆะหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปได้ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
พิพากษายืน

Share