คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1023/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถบรรทุกไป ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเป็นเหตุ ให้ตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรทุกไปเกี่ยวสายเคเบิลโทรศัพท์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2536โจทก์มีหนังสือทวงถามเรียกให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2536 หนังสือดังกล่าวลงนามโดย ส.หัวหน้ากองบำรุงรักษาที่ 1 ทำการแทนผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มีข้อความว่า จำเลยที่ 1กระทำละเมิดให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าเสียหาย 243,230 บาทไปชำระ หากไม่ชำระโจทก์จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไปแสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ จะถึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าส. ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้แทนโจทก์โดยชอบ และถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าที่สุดในวันที่ 30 สิงหาคม 2536 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2537 พ้นกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 มีนายจุมพล เหราบัตย์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ มีอำนาจกระทำการใด ๆ แทนโจทก์โจทก์เป็นเจ้าของสายเคเบิลโทรศัพท์ที่พาดแขวนไว้บนเสาไฟฟ้าตามแนวถนนเทียมร่วมมิตร แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวางกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน71 – 1850 กรุงเทพมหานคร พ่วงรถลากจูงหมายเลขทะเบียน 72 – 0502กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถบรรทุกและรถพ่วงลากจูงคันดังกล่าวและเป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2536 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถบรรทุกพ่วงรถลากจูงคันดังกล่าวซึ่งบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์มาตามถนนเทียมร่วมมิตร ตามคำสั่งหรือทางการที่จ้างหรือในกิจการเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ด้วยความเร็วสูงและด้วยความประมาท เป็นเหตุให้ตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรทุกมานั้นเกี่ยวสายเคเบิลโทรศัพท์ของโจทก์ชำรุดเสียหายและทำให้เสาไฟฟ้าหักโค่น โจทก์ได้ซ่อมแซมและเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ให้ใช้ได้ดีดังเดิม เสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 243,230 บาท จำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2ในฐานะนายจ้างหรือตัวการต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ยุติว่าเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2536 จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2ขับรถบรรทุกไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรทุกไปเกี่ยวสายเคเบิลโทรศัพท์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2536นายสกล คูหาเปรมศิลป์ มีหนังสือถึงจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหาย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า นายสกล คูหาเปรมศิลป์หัวหน้ากองบำรุงรักษาที่ 1 เป็นเพียงพนักงานระดับล่าง ไม่ใช่ผู้แทนโจทก์ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ข้อนี้ นายวีระกาญจน์อุ่นเมือง พยานโจทก์เบิกความว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว ตามหนังสือทวงถามเอกสารหมาย จ.11เห็นว่า ตามหนังสือทวงถามเอกสารหมาย จ.11 โจทก์ได้เรียกให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2536หนังสือดังกล่าวลงนามโดยนายสกล คูหาเปรมศิลป์หัวหน้ากองบำรุงรักษาที่ 1 ทำการแทนผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดให้จำเลยที่ 2นำเงินค่าเสียหาย 243,230 บาท ไปชำระ หากไม่ชำระโจทก์จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งแสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว เพราะหากโจทก์ไม่ทราบ โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายได้อย่างไรเอกสารหมาย จ.11 เป็นเอกสารของโจทก์ระบุข้อความชัดแจ้งว่านายสกล คูหาเปรมศิลป์หัวหน้ากองบำรุงรักษาที่ 1 ทำการแทนผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและตามคำเบิกความของนายวีระกาญจน์ อุ่นเมือง พยานโจทก์ก็ยืนยันว่า โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามเอกสารดังกล่าวแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายสกล คูหาเปรมศิลป์ ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้แทนโจทก์โดยชอบ ฉะนั้น จึงถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าที่สุดในวันที่ 30 สิงหาคม2536 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2537 พ้นกำหนด 1 ปีฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share