คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4516/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ผู้ให้กู้เป็นธนาคารพาณิชย์จะมีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้หรือไม่นั้น ย่อมสุดแท้แต่ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยผู้กู้ หากในสัญญาระบุไว้โดยแจ้งชัดว่า ผู้ให้กู้จะต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนี้ หากผู้ให้กู้ไม่แจ้ง ย่อมเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยได้
ตามหนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับพิพาทมีข้อความว่า ถ้าปรากฏว่าผู้เบิกเงินเกินบัญชีได้เบิกเงินเกินจากบัญชีกระแสรายวันไปเกินกว่าวงเงินที่ตกลงกันผู้เบิกเงินเกินบัญชียินยอมให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในส่วนเบิกเกินไปนั้น ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้สำหรับการให้กู้ยืมในขณะนั้นได้และยินยอมให้ธนาคารนำดอกเบี้ยนี้คำนวณทบต้นตามธรรมเนียมและประเพณีของธนาคารที่กล่าวไว้แล้วได้ด้วย และแม้ก่อนจะถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ก็ตามก็ไม่ตัดสิทธิของธนาคารที่จะบอกเลิกสัญญาหรือที่จะลดวงเงินหรือที่จะเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยตามที่ธนาคารจะเห็นสมควร โดยธนาคารจะแจ้งให้ผู้เบิกเงินเกินบัญชีทราบหรือไม่ก็ตามผู้เบิกเงินเกินบัญชีตกลงยินยอมและขอปฏิบัติตามทุกประการโดยพลัน ข้อสัญญาดังกล่าวจึงแจ้งชัดแล้วว่า การที่จะเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทราบ โจทก์ย่อมมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ แม้จะไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,221,150.67 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ

จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของจำเลยที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน2,948,925.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินในวงเงิน2,000,000 บาท และดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงินส่วนที่เกินวงเงินดังกล่าว (948,925.78 บาท) นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 11 เมษายน 2533 ดอกเบี้ยต่อจากนั้นให้คิดโดยไม่ทบต้นคือ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ14.5 ต่อปี ของต้นเงินในวงเงิน 2,000,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปีของต้นเงินส่วนที่เกินวงเงิน นับแต่วันที่ 12 เมษายน 2533 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2533ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงินในวงเงิน 2,000,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงินส่วนที่เกินวงเงิน นับแต่วันที่ 16 เมษายน 2533 ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2533 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ของต้นเงินในวงเงิน 2,000,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินส่วนที่เกินวงเงิน นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2533 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.75 ต่อปี ของต้นเงินในวงเงิน 2,000,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินส่วนที่เกินวงเงิน นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2534 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.25 ต่อปี ของต้นเงินในวงเงิน 2,000,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินส่วนที่เกินวงเงิน นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2534 ถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2534 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงินในวงเงิน 2,000,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินส่วนที่เกินวงเงิน นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2534 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2535 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของต้นเงินในวงเงิน 2,000,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของต้นเงินส่วนที่เกินวงเงิน นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2535 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2535 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของต้นเงินในวงเงิน 2,000,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินส่วนที่เกินวงเงิน นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 7,595.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2533 ในอัตราแต่ละช่วงระยะเวลาเช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินส่วนที่เกินวงเงิน 2,000,000 บาท ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เงินกู้จำนวน2,221,150.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,500,000 บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1036 และ 1037 ตำบลเพอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 2,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยขณะทำสัญญาร้อยละ 14 ต่อปี ตามเอกสารหมาย จ.5 มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.9

คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเกินอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยโจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ทราบได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์จะมีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้หรือไม่นั้น ย่อมสุดแท้แต่ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย หากในสัญญาระบุไว้โดยแจ้งชัดว่า ผู้ให้กู้จะต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ในกรณีดังกล่าวนี้หากผู้ให้กู้ไม่แจ้งย่อมเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ย่อมไม่มีสิทธิที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยได้ สำหรับคดีนี้ตามหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 2 ส่วนสุดท้ายมีใจความว่า “อนึ่งถ้าปรากฏว่าผู้เบิกเงินเกินบัญชีได้เบิกเงินเกินจากบัญชีกระแสรายวันที่กล่าวในข้อ 1 ไปเกินกว่าวงเงินที่ตกลงกันตามสัญญานี้ ผู้เบิกเงินเกินบัญชียินยอมให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในส่วนเบิกเกินไปนั้น ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้สำหรับการให้กู้ยืมในขณะนั้นได้ และยินยอมให้ธนาคารนำดอกเบี้ยนี้คำนวณทบต้นตามธรรมเนียมและประเพณีของธนาคารที่กล่าวไว้แล้วได้ด้วย” และในสัญญาดังกล่าวข้อ 3 ระบุต่อไปว่า” อย่างไรก็ดี แม้ก่อนจะถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ดังกล่าวมาแล้วก็ตาม ก็ไม่ตัดสิทธิของธนาคารที่จะบอกเลิกสัญญานี้ หรือที่จะลดวงเงินหรือที่จะเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยตามที่ธนาคารจะเห็นสมควร โดยธนาคารจะแจ้งให้ผู้เบิกเงินเกินบัญชีทราบหรือไม่ก็ตาม ผู้เบิกเงินเกินบัญชีตกลงยินยอมและขอปฏิบัติตามทุกประการโดยพลัน” และตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 และ จ.9 ข้อ 4 ก็ระบุไว้เช่นเดียวกัน จึงเห็นได้ว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัด ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1กับที่ 3 มีข้อความโดยแจ้งชัดแล้วว่า การที่จะเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทราบ เมื่อมีข้อตกลงดังนี้โจทก์จึงมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ แม้จะไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบก็ตาม

พิพากษายืน

Share