คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1022/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองพกสั้นไม่มีเครื่องหมายเลขทะเบียนปืนของเจ้าพนักงาน และมีลำกล้องปืนแก๊ปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ปืนและลำกล้องปืนดังกล่าวจะชำรุดใช้การไม่ได้ก็เป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 6 เดือน ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสอง ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ข้อ 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าของกลางใช้ส่งกระสุนปืนไม่ได้ ไม่ใช่อาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ไม่เป็นความผิดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยแต่เพียงว่า การที่จำเลยมีอาวุธปืนและลำกล้องปืนซึ่งชำรุดใช้การไม่ได้ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจะเป็นความผิดหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 4(1) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 3 พ.ศ. 2501 มาตรา 3 มิได้บัญญัติว่าอาวุธปืนจะต้องใช้ยิงได้จึงจะเป็นอาวุธปืน และแม้ส่วนหนึ่งส่วนใดที่รัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญและได้ระบุไว้ในกฎกระทรวงก็ถือว่าเป็นอาวุธปืนด้วยดังนั้น การที่จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองพกสั้น ไม่มีเครื่องหมายเลขทะเบียนปืนของเจ้าพนักงานและมีลำกล้องปืนแก๊ป 3 อัน ซึ่งเป็นอาวุธปืนตามกฎกระทรวง(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ปืนและลำกล้องปืนดังกล่าวจะชำรุดใช้การไม่ได้ จำเลยก็มีความผิด ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 1903/2520 ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์นายพิมล ลมัยพันธ์ จำเลย”

พิพากษากลับ บังคับตามศาลชั้นต้น

Share