คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินทดแทนตลอดจนจำนวนเงินค่าทดแทน ข้อ 14 นั้น เมื่อคู่กรณี (นายจ้างกับลูกจ้าง)ไม่พอใจคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมแรงงานหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย ก็ต้องอุทธรณ์ไปตามลำดับ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้วินิจฉัยให้นายจ้างจ่ายเงินค่าทดแทนให้ลูกจ้างแล้ว นายจ้างมิได้อุทธรณ์ ก็ต้องถือเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่นั้น จะมาโต้แย้งในชั้นศาลอีกว่าลูกจ้างผู้เป็นโจทก์นั้นไม่ใช่ลูกจ้างหรือโจทก์ประสบอุบัติเหตุเพราะความผิดของโจทก์เองหรือยกเหตุตามประกาศข้อ 15 ขึ้นอ้าง เพื่อไม่จ่ายเงินค่าทดแทนหาได้ไม่
เมื่อลูกจ้างพอใจคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ และไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์คำวินิจฉัยไปยังอธิบดีกรมแรงงาน เมื่อนายจ้างไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้ลูกจ้างตามคำวินิจฉัยนั้นลูกจ้างก็มีสิทธิฟ้องต่อศาลได้ และไม่ใช่กรณีที่อยู่ในบังคับแห่งกำหนดเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 14 ว่าจะต้องฟ้องภายใน 30 วัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงานให้แก่จำเลย ได้รับบาดเจ็บทุพพลภาพไปตลอดชีวิตไม่สามารถประกอบการงานเพื่อยังชีพได้ โจทก์ได้ยื่นคำร้องเรียกค่าตอบแทนไปยังกองคุ้มครองแรงงาน กรมแรงงานจากจำเลย เจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าแรงงานแก่โจทก์ คือจ่ายค่าทดแทนคราวเดียวเป็นเงิน 6,240 บาท ค่าทดแทนการสูญเสียแรงงานเดือนละ 585 บาท เป็นเวลา 4 ปี 1 เดือน โดยให้จ่ายครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2509 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2510 เป็นเงิน 4,680 บาท ภายใน 15 วัน และต่อไปอีกเดือนละ 585 บาท ทุกเดือนจนครบ 4 ปี 1 เดือน ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่โจทก์จ่ายไปจริง 2,646 บาท จำเลยทราบคำสั่งแล้วก็เพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามคำวินิจฉัยและคำสั่งของกรมแรงงาน 15,946 บาท กับค่าทดแทนในการสูญเสียแรงงานเป็นรายเดือน ๆ ละ 585 บาท นับแต่เดือนกรกฎาคม 2510 เป็นต้นไปจนครบ 4 ปี 1 เดือน

จำเลยให้การว่า โจทก์ประสบอุบัติเหตุเพราะความผิดของโจทก์เอง จำเลยได้ออกค่ารักษาพยาบาลตลอดจนค่าครองชีพให้โจทก์และภรรยา 7,000 บาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะมาเรียกค่ารักษาพยาบาลตลอดจนค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลย โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยตามประกาศของคณะปฏิบัติฉบับที่ 19 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2501 และประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2501 เพราะจำเลยจ้างโจทก์ทำงานเฉพาะครั้งคราวและการทำงานครั้งหนึ่ง ๆ ไม่เกินร้อยวัน อนึ่ง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย โจทก์จะต้องขอให้ศาลพิจารณาคดีภายในสามสิบวัน แต่คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อล่วงเลยเกิน 1 เดือนนับแต่เมื่อโจทก์ทราบคำวินิจฉัยจากกรมแรงงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิดำเนินคดีกับจำเลย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างตามความหมายในประกาศกระทรวงมหาดไทย จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทน ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยไม่อุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่คำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ต้องนับว่าถึงที่สุด จำเลยหมดสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้าง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย (เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินค่าทดแทนตลอดจนจำนวนเงินค่าทดแทน ลงวันที่ 20 ธันวาคม2501) ข้อ 14 ที่กำหนดให้คู่กรณีมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ต่ออธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งต่อมาได้โอนไปเป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมแรงงานหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย ภายในสิบห้าวันนับแต่รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น เป็นประกาศซึ่งออกตามประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่ 19 จึงมีผลบังคับเป็นกฎหมาย ซึ่งคู่กรณีจำต้องปฏิบัติตาม กล่าวคือถ้าคู่กรณีไม่พอใจในคำวินิจฉัยก็ต้องอุทธรณ์ไปตามลำดับ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 270/2510

คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งได้มีคำวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์แล้ว จำเลยมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยไปตามลำดับตามที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 14 กำหนดไว้ จึงต้องถือเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่นั้นแล้ว จำเลยไม่อาจโต้แย้งในชั้นศาลได้อีกว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้าง หรือโจทก์ประสบอุบัติเหตุเพราะความผิดของโจทก์เอง หรือยกเหตุตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 15 ขึ้นอ้างเพื่อไม่จ่ายเงินทดแทนให้โจทก์ และโจทก์มีสิทธิฎีกาปัญหาข้อนี้ได้ เพราะอยู่ในประเด็นที่ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ ไม่เป็นการนอกประเด็นดังที่จำเลยแก้ฎีกา

ประเด็นที่จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์จะต้องขอให้ศาลพิจารณาคดีภายใน 30 วัน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 14 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อ 14 นี้หมายถึงเฉพาะคู่กรณีที่ไม่เห็นชอบกับคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมแรงงานหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาภายใน 30 วันนับแต่วันรับคำวินิจฉัย แต่คดีนี้โจทก์พอใจคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ และไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์คำวินิจฉัยไปยังอธิบดีกรมแรงงาน เมื่อจำเลยไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ตามคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ โจทก์ก็มีสิทธิมาฟ้องต่อศาลได้ หาอยู่ในบังคับแห่งกำหนดเวลาดังกล่าวไม่

ส่วนประเด็นเรื่องค่ารักษาพยาบาล เมื่อคำวินิจฉัยกำหนดให้จำเลยจ่ายเท่าที่โจทก์จ่ายไปจริงตามความจำเป็นนั้น โจทก์อ้างว่าได้จ่ายไป 2,686 บาท จำเลยไม่ได้ให้การถึง และมิได้นำสืบหักล้างจึงฟังได้ว่าโจทก์จ่ายไป 2,686 บาท ที่จำเลยนำสืบว่าได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ไปแล้วประมาณ 4,000 – 5,000 บาทนั้น พยานหลักฐานฟังไม่ได้

พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาล 2,686 บาท ค่าทดแทนครั้งเดียว 6,240 บาท และต่อ ๆ ไปเดือนละ 585 บาท มีกำหนด 4 ปี 1 เดือนนับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2509 (วันเกิดเหตุ) เป็นต้นไปแก่โจทก์

Share