คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1019/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างที่ใช้อยู่ขณะเกิดเหตุไม่มีข้อความกล่าวถึงสิทธิของนายจ้างในการสั่งให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติและโทษของลูกจ้างซึ่งฝ่าฝืนไว้ ต่อมานายจ้างได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้มีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติได้ นายจ้างจึงกำหนดให้ลูกจ้างซึ่งได้รับคำสั่งลงลายมือชื่อในบัญชีพนักงานทำงานล่วงเวลา และได้กำหนดโทษลูกจ้างที่ฝ่าฝืนคำสั่งเป็นขั้น ๆ ไว้ในเอกสารดังกล่าว ถือว่าเป็นกรณีที่นายจ้างกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพิ่มเติมนายจ้างจึงต้องผูกพันปฏิบัติตามข้อบังคับที่เพิ่มเติมนั้น นายจ้างจะลงโทษนอกเหนือจากข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างค้างชำระแก่โจทก์จำเลยให้การว่าจำเลยเลิกจ้างเพราะจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ แต่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ก่อนหน้านี้จำเลยเคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือในกรณีเดียวกันนี้มาแล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้องศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 7,830 บาทและค่าจ้างค้างชำระเป็นเงิน 783 บาทแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.7 ซึ่งจำเลยใช้บังคับในขณะเกิดเหตุนั้นไม่มีความข้อใดกล่าวถึงสิทธิของจำเลยในการสั่งให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติ หรือกล่าวถึงโทษของลูกจ้างซึ่งฝ่าฝืนไว้ฉะนั้น กรณีที่จำเลยมิได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ต่อมาจำเลยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้มีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติได้ แล้วจำเลยกำหนดให้ลูกจ้างซึ่งได้รับคำสั่งจากจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อพนักงานทำงานล่วงเวลา ซึ่งจำเลยกำหนดขึ้นตามเอกสารหมาย ล.3 และจำเลยได้กำหนดโทษของลูกจ้างซึ่งฝ่าฝืนคำสั่งเป็นขั้น ๆไว้ในเอกสารดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่จำเลยกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.7 จำเลยผูกพันต้องปฏิบัติตามเอกสารหมาย ล.3 เมื่อการงดจ่ายคูปองเป็นโทษที่กำหนดไว้ในเอกสารหมาย ล.3 และเป็นโทษประเภทหนึ่งซึ่งระบุไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.7 ข้อ 22(1)แล้วต้องถือว่ากรณีที่ลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยโดยไม่ทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติ ตามคำสั่งของจำเลย ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยประสงค์จะลงโทษลูกจ้างแต่เฉพาะการงดจ่ายคูปองการที่จำเลยลงโทษโจทก์ด้วยการเลิกจ้างจึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ได้กระทำผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share