คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2234/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ ส. พยานผู้ร้องมิได้เบิกความว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย แต่จากคำเบิกความของส. ก็แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่า ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย นอกจากนั้นผู้ร้องยังได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปยังจำเลย ผู้เช่าซื้อหลังจากที่จำเลยทั้งสองได้นำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด จึงน่าเชื่อว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย พยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่มีมานำสืบให้ฟังได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอรถยนต์ของกลางคืน.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และริบหวายกับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ป-2537 สงขลา ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่เจ้าของรถยนต์ของกลางและผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ในปัยหานี้ผู้ร้องมีนายสมพล ทินธนประทีป เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อและการตลาดของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงของผู้ร้องเบิกความเป็นพยานว่า หลังจากผู้ร้องให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ของกลางแล้ว ผู้ร้องได้มอบให้จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์ของกลาง จนกระทั่งผู้ร้องทราบจากจำเลยที่ 1 ว่ารถยนต์ของกลางถูกศาลพิพากษาให้ริบ ผู้ร้องจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเอกสารหมายร.7 ไปยังจำเลยที่ 1 เห็นว่า แม้นายสมพลพยานผู้ร้องมิได้เบิกความว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองแต่คำเบิกความของนายสมพลดังกล่าวก็แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองและที่ผู้ร้องมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาและใบตอบรับเอกสารหมาย ร.7 นั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์เอกสารดังกล่าวประกอบแล้ว ปรากฏว่าหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวลงวันที่ 8 ตุลาคม 2533 และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือนั้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2533 ซึ่งแสดงว่าผู้ร้องได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปยังจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อหลังจากที่จำเลยทั้งสองได้นำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดคดีนี้และศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางแล้วเป็นเวลาเพียงสี่วัน จึงทำให้น่าเชื่อยิ่งขึ้นว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง ทั้งในข้อนี้ร้อยตำรวจโทสรพล เจริญวงศ์ พนักงานสอบสวนซึ่งโจทก์นำมาเบิกความเป็นพยานโจทก์เพียงปากเดียวก็เบิกความตอบทนายผู้ร้องถามค้านเพียงว่า จากการสอบสวนไม่ปรากฏว่ามีบุคคลอื่น นอกจากจำเลยทั้งสองร่วมกระทำความผิดด้วยและไม่ทราบว่าผู้ร้องจะรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองหรือไม่ นอกจากนี้แล้วโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสืบว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้ฟังได้ว่าผู้ร้องได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง และที่สัญญาเช่าซื้อระหว่างผู้ร้องและจำเลยที่ 1 มีข้อกำหนดว่าภายหลังเลิกสัญญาแล้วหากผู้ให้เช่าซื้อยอมรับเงินจากผู้เช่าซื้ออีก ก็ให้ถือว่าสัญญามีผลผูกพันกันต่อไปก็เป็นข้อสัญญาที่กำหนดกันไว้ได้ตามกฎหมาย และเป็นเพียงข้อสัญญาที่ให้สิทธิแก่ผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งผู้ให้เช่าซื้อจะใช้สิทธิตามข้อสัญญานั้นหรือไม่ใช้ก็ได้ ถือไม่ได้ว่าการที่สัญญาเช่าซื้อมีข้อสัญญาดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง เมื่อคดีฟังได้ว่ารถยนต์ของกลางที่ศาลชั้นต้นสั่งริบเป็นของผู้ร้อง และผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอรถยนต์ของกลางคืน…”
พิพากษายืน.

Share