แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ส่งจำเลยไปควบคุมไว้ยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง มีกำหนด 1 ปี แม้ศาลอุทธรณ์จะปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เพิ่มอีกบทหนึ่ง ก็เป็นการลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 1 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาต่างกับฟ้องก็ดี จำเลยมิได้เข้าร่วมชุลมุนต่อสู้กับฝ่ายผู้ตายและผู้เสียหายก็ดี เป็นฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
กรณีวิวาทต่อสู้กันซึ่งกระทำต่อเนื่องกันไป และจำเลยร่วมกันกับพวกใช้อาวุธฝ่ายเดียวทำร้ายอีกฝ่ายจนได้รับบาดเจ็บและตาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดเพียงร่วมกับพวกทำร้ายอีกฝ่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 บทเดียว ย่อมไม่ถูกต้อง เมื่อคดีมีการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะหยิบยกบทมาตราที่ถูกต้องขึ้นปรับคดีได้ หากมิใช่เป็นการเพิ่มโทษจำเลยให้หนักขึ้น
เมื่อมีการตายและบาดเจ็บเกิดขึ้นในขณะวิวาทต่อสู้กันย่อมถือได้ว่าจำเลยกับพวกมีเจตนาเพียงทำร้ายฝ่ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ประกอบด้วยมาตรา 83 อีกบทหนึ่ง ต่างหากจากมาตรา 295 เท่านั้น และต้องลงโทษจำเลยตามบทนี้ที่มีโทษหนักที่สุด แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้น จำเลยจึงควรรับโทษเพียงไม่เกินกว่าอัตราโทษที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ดังที่ศาลชั้นต้นกำหนด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกราว ๒๐ คน ร่วมกันใช้มีดปลายแหลมแทงนายรัชพงษ์ ซื่อมาก ตายโดยเจตนาฆ่า และร่วมกันใช้มีดปลายแหลมแทงนายสุเทพ ฉัตรเพชรพิทักษ์ ใช้กำลังทำร้ายนายอุดร สรสินทร์กับนายทองสา ศรีบุญเรือง ได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๙๕, ๘๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ และมาตรา ๗๔ (๕) ให้ส่งตัวจำเลยไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางมีกำหนด ๑ ปี นับแต่วันพิพากษา ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยกับพวกมีเจตนาฆ่านายรัชพงษ์ ส่วนนายสุเทพ นายอุดร นายทองสาถูกแทงและตีได้รับบาดเจ็บ ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนัก พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ส่งจำเลยไปควบคุมตัวไว้ยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางแม้ศาลอุทธรณ์จะปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ เพิ่มอีกบทหนึ่ง ก็เป็นการลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน ๑ ปี จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๙ จำเลยฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากสำนวนว่า จำเลยและผู้ตายกับผู้เสียหายต่างมีพวกฝ่ายละหลายคน จำเลยกับพวกฝ่ายเดียวมีมีดปลายแหลมเป็นอาวุธขณะที่เข้าชุลมุนต่อสู้กัน เป็นเหตุให้อีกฝ่ายถึงแก่ความตาย ๑ คน และได้รับอันตรายแก่กาย ๓ คน เนื่องมาจากการกระทำของฝ่ายจำเลย รายละเอียดของบาดแผลปรากฏตามรายงานการตรวจศพและผลการตรวจชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องเอกสารหมาย จ.๓๐ จ.๑๑ ถึง จ.๑๓ ที่จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาต่างกับฟ้องก็ดี จำเลยมิได้เข้าร่วมชุลมุนต่อสู้กับฝ่ายผู้ตายและผู้เสียหายก็ดีเป็นฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ในชั้นนี้คงมีปัญหาว่า เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘,๘๓ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีโทษหนักขึ้น มาปรับแก่คดีได้หรือไม่ เห็นว่า กรณีนี้เป็นการวิวาทต่อสู้กัน ซึ่งกระทำต่อเนื่องกันไปและจำเลยร่วมกันกับพวกใช้อาวุธฝ่ายเดียวทำร้ายอีกฝ่ายจนได้รับบาดเจ็บและตาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดเพียงร่วมกับพวกทำร้ายอีกฝ่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ บทเดียวย่อมไม่ถูกต้อง เมื่อคดีมีการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะหยิบยกบทมาตราที่ถูกต้องขึ้นปรับคดีได้ หากมิใช่เป็นการเพิ่มโทษจำเลยให้หนักขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยร่วมกันกับพวกกระทำความผิดฐานฆ่าคนตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ อีกบทหนึ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อมีการตายและบาดเจ็บเกิดขึ้นในขณะวิวาทต่อสู้กันดังกล่าวแล้วเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยกับพวกมีเจตนาเพียงทำร้ายฝ่ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ อีกบทหนึ่งเท่านั้นและต้องลงโทษจำเลยตามบทนี้ที่มีโทษหนักที่สุด แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้น จำเลยจึงควรต้องรับโทษเพียงไม่เกินกว่าอัตราโทษที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ดังที่ศาลชั้นต้นกำหนด ฯลฯ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐, ๒๙๕, ๘๓ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๙๐ ซึ่งเป็นบทหนักประกอบด้วยมาตรา ๗๔ (๓) ให้มอบตัวจำเลยแก่บิดามารดาไปดูแลโดยวางข้อกำหนด ฯลฯ.