แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเช็คพิพาทมอบให้จำเลยที่ 2ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อสลักหลังเช็คพิพาทและนำไปแลกเงินสดจากโจทก์ แต่โจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 1 นำเช็คพิพาทไปแลกเงินสดจากโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองรับว่าจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาทและจำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คพิพาทโดยจำเลยที่ 1 ได้นำเช็คพิพาทไปมอบให้โจทก์เป็นการแลกเช็คและรับเงินสดไปจากโจทก์จริง ดังนี้ข้อแตกต่างระหว่างคำฟ้องกับคำเบิกความของโจทก์ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่จะมีผลให้รับฟังว่าโจทก์ไม่ได้รับเช็คพิพาทไว้เพื่อชำระหนี้ โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้นำเช็คพิพาทไปชำระหนี้บุคคลผู้มีชื่อ แต่โจทก์เบิกความว่าโจทก์ได้นำเช็คพิพาทไปขายให้ ต. นั้น คำเบิกความของโจทก์หมายความว่าโจทก์นำเช็คพิพาทไปมอบให้บุคคลผู้มีชื่อเพื่อชำระหนี้ทำนองเดียวกับที่โจทก์กล่าวในคำฟ้อง ดังนี้หาเป็นการแตกต่างกันไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาท ลงวันที่ 5 ตุลาคม2526 สั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท มอบแก่จำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่5 กันยายน 2526 จำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อสลักหลังเช็คพิพาทแล้วนำไปแลกเงินสดจากโจทก์ โจทก์นำเช็คไปชำระหนี้แก่ผู้มีชื่อ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงิน ผู้มีชื่อนำเช็คเข้าบัญชี เพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2526ให้เหตุผลว่าบัญชีปิดแล้ว ผู้มีชื่อนำเช็คพิพาทพร้อมใบคืนเช็คมาคืนโจทก์และขอรับเงินไปจากโจทก์แล้วจำนวน 50,000 บาท โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชำระเงินตามเช็คและค่าเสียหายถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 50,562 บาทพร้อมค่าเสียหายอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 50,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คตามกฎหมายเพราะโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นชัดว่า โจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทมาอย่างไร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัลจริง แต่เช็คดังกล่าวลงวันที่ 5 ตุลาคม 2524โจทก์ปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในรายการวันสั่งจ่าย และแก้ไขวันสั่งจ่ายจากปี 2524 เป็นปี 2526 เช็คพิพาทจึงเสียไป และฟ้องโจทก์ขาดอายุความเมื่อต้นปี 2525 จำเลยที่ 1 เรียกประชุมเจ้าหนี้รวมทั้งโจทก์ด้วย โจทก์ยอมรับชำระหนี้ตามเช็คพิพาทจากจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ไปแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธินำเช็คพิพาทมาฟ้องจำเลยทั้งสองอีก
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่17 ตุลาคม 2526 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องไม่ให้เกิน 562 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีประเด็นที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประเด็นแรกว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ตามฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเช็คพิพาทมอบให้ จำเลยที่ 2ต่อมาวันที่ 5 กันยายน 2526 จำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อสลักหลังเช็คและนำไปแลกเงินสดจากโจทก์ แต่โจทก์เบิกความแตกต่างไปว่า จำเลยที่ 1 นำเช็คพิพาทไปแลกเงินสดจากโจทก์เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2524นั้น เห็นว่า แม้คำฟ้องกับคำเบิกความของโจทก์แตกต่างกันจริงตามฎีกาของจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองเองก็รับว่าจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาทและจำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คพิพาท โดยจำเลยที่ 1 ได้นำเช็คพิพาทไปมอบให้โจทก์เป็นการแลกเช็คและรับเงินสดไปจากโจทก์จริง จึงเห็นว่าข้อแตกต่างระหว่างคำฟ้องกับคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าว ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่จะมีผลให้รับฟังว่าโจทก์ไม่ได้รับเช็คพิพาทไว้เพื่อชำระหนี้ ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าโจทก์ได้นำเช็คพิพาทไปชำระหนี้บุคคลผู้มีชื่อ แต่โจทก์เบิกความขัดกับคำฟ้องว่า โจทก์ได้นำเช็คพิพาทไปขายให้นายตั้งเม้ง แซ่แต้ นั้น เห็นว่าคำเบิกความของโจทก์ที่ว่าได้นำเช็คพิพาทไปขายให้นายตั้งเม้ง ย่อมมีความหมายว่าโจทก์นำเช็คพิพาทไปมอบให้บุคคลผู้มีชื่อเพื่อชำระหนี้ทำนองเดียวกับที่โจทก์กล่าวในคำฟ้อง หาเป็นการแตกต่างกันดังฎีกาของจำเลยทั้งสองไม่ จึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ตามฟ้อง…”
พิพากษายืน.