แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ออกประกาศหรือสั่งเป็นหนังสือ ในมาตรา 18 (1) แห่งพระราชบัญญัติ โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 คำว่า ออกประกาศ หมายความว่าออกประกาศเป็นหนังสือ หาใช่ออกประกาศด้วยวาจาก็ได้ไม่ เพราะมาตรา นี้มุ่งบังคับเอากับประชาชน ถ้าตีความว่า ออกประกาศด้วยวาจาก็ใช้ได้ ก็ย่อมปราศจากหลักฐานและเป็นช่องทางให้โต้เถียงกันได้
สัตวแพทย์ประกาศเป็นหนังสือกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว และประกาศด้วยวาจาให้จำเลยและเจ้าของสัตว์แจ้งจำนวน โค กระบือ และให้นำโคกระบือมาให้ตรวจและฉีดยา จำเลยฝ่าฝืน ยังไม่เป็นความผิดเพราะสัตวแพทย์ ประกาศด้วยวาจามิใช่เป็นหนังสือ
ย่อยาว
ได้ความว่า สัตวแพทย์ได้ประกาศเป็นหนังสือว่า ในตำบลศรีแก้ว อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราว แล้วสัตวแพทย์ได้ประกาศด้วยวาจาแก่จำเลยและเจ้าของสัตว์ ให้แจ้งจำนวนโค กระบือและให้นำโคกระบือมาให้ตรวจและฉีดยาจำเลยฝ่าฝืนและขัดคำสั่งสัตวแพทย์โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๑๖, ๑๘, ๔๑ จำเลยรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า แม้สัตวแพทย์จะได้ออกประกาศเป็นหนังสือกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวตามสำเนาประกาศท้ายฟ้องแล้วก็ตาม ถ้าประสงค์จะให้แจ้งจำนวน หรือให้นำสัตว์มาฉีดยาก็จะต้องออกประกาศหรือสั่งเป็นหนังสือ เป็นพิเศษ อีกฉบับหนึ่งเพื่อจำเลยทราบจะประกาศด้วยวาจาตาม มาตรา ๑๘ (๑) หาได้ไม่ พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน
คดีนี้โจทก์ฎีกาในข้อกฎหมายว่า ตามพระราชบัญญัติ โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๑๘ (๑) ให้อำนาจสัตว์แพทย์ พิจารณาออกประกาศด้วยวาจาก็ได้ แต่ถ้าจะสั่งต้องสั่งเป็นหนังสือ จะสั่งด้วยวาจา ไม่ได้ จึงขอให้ลงโทษตามฟ้อง
ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่า ข้อความในมาตรา ๑๘ (๑) ที่ว่า ออกประกาศหรือสั่งเป็นหนังสือ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จะออกประกาศหรือสั่งเป็นหนังสือ คือประสงค์ให้เป็นหลักฐานสามารถตรวจสอบได้ว่า ประกาศไว้อย่างไรหรือสั่งไว้อย่างไร ถ้าตีความตามฎีกาของโจทก์ คือให้ออกประกาศด้วยวาจา ได้ปราศจากหลักฐานและเป็นช่องทางให้โต้เถียงกันได้ หาใช่ความประสงค์ของกฎหมายนี้ไม่ เพราะมาตรา นี้มุ่งบังคับเอากับประชาชน ควรวินิจฉัยตีความให้เป็นยุติธรรม แก่ประชาชนและหลักการ วินิจฉัยตีความตามกฎหมายในส่วนอาญา จำต้องระลึกถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคลประกอบด้วย ถ้ายอมให้ประกาศบังคับเอากับประชาชนด้วยวาจา หากข้อความที่ประกาศด้วยวาจานั้น บิดเบือนหรือผิดเพี้ยนผันแปรไปประการใดประชาชนอาจได้รับความเดือดร้อน ไม่ชอบด้วยการวินิจฉัยตีความตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ในมาตราอื่น ๆ ที่ต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน ก็ได้บัญญัติไว้ให้ออกประกาศหรือสั่งเป็นหนังสือ เช่น มาตรา ๑๐, ๑๕, ๑๖ เป็นต้น การพิจารณามาตราอื่น ๆ ประกอบด้วย ย่อมช่วยให้สามารถหยั่งรู้ถึงความประสงค์ของมาตรา ๑๘ ดีขึ้นได้