คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10107/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยจะต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดเสียก่อน การที่โจทก์ร่วมทั้งสองมอบเงินให้จำเลยไปโดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยจะนำไปวิ่งเต้นติดสินบนเจ้าพนักงานเพื่อให้นำไม้จากประเทศกัมพูชาผ่านแดนเข้าประเทศไทยได้ แม้จำเลยจะมิได้นำไปวิ่งเต้นติดสินบนตามที่กล่าวอ้าง แต่ความประสงค์อันแท้จริงของโจทก์ร่วมทั้งสองก็เพื่อให้จำเลยวิ่งเต้นติดสินบนในเรื่องที่ผิดกฎหมาย โจทก์ร่วมทั้งสองมีส่วนก่อให้เกิดความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ในคดีความผิดฐานฉ้อโกงได้ ปัญหาดังกล่าวแม้จะมิได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อโจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีอำนาจร้องทุกข์ พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง เพราะเป็นความผิดต่อส่วนตัว ศาลล่างทั้งสองจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 500,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 750,000 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายบรรลือศักดิ์ ผู้เสียหายที่ 1 และนายวิจิตร ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะในส่วนคดีอาญา โดยให้เรียกผู้เสียหายทั้งสองว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และคืนเงินจำนวน 750,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 2
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมทั้งสองจะเป็นผู้เสียหายในเบื้องต้นจะต้องไม่เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดเสียก่อน จึงจะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยได้ และมีอำนาจร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกง การที่โจทก์ร่วมทั้งสองมอบเงินให้จำเลยไปโดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยจะนำไปวิ่งเต้นติดสินบนเจ้าพนักงานเพื่อให้นำไม้จากประเทศกัมพูชาผ่านแดนเข้าประเทศไทยได้ แม้จำเลยจะมิได้นำไปวิ่งเต้นติดสินบนตามที่กล่าวอ้างแต่ความประสงค์อันแท้จริงของโจทก์ร่วมทั้งสองก็เพื่อให้จำเลยวิ่งเต้นติดสินบนในเรื่องที่ผิดกฎหมาย ฟังได้ว่า โจทก์ร่วมทั้งสองมีส่วนก่อให้เกิดความผิดอยู่ด้วย โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ในคดีความผิดฐานฉ้อโกงได้ ปัญหาดังกล่าวแม้จะมิได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อโจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีอำนาจร้องทุกข์ พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง เพราะเป็นความผิดต่อส่วนตัว ศาลล่างทั้งสองจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ ฎีกาจำเลยในปัญหาอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะเกิดขึ้นหลังจากศาลมีอำนาจรับฟ้องแล้ว
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share