แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีเกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ พ.ศ.2499 ส่วนพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2503 ยังมิได้ออกใช้บังคับ เมื่อผู้ว่าคดีฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงธนบุรี ศาลแขวงธนบุรีไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่า คดีมีมูลฐานวิ่งราวทรัพย์(ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลอาญา) และให้ประทับฟ้องไว้ อัยการได้รับสำนวนจากศาลแขวงธนบุรีและพิจารณาแล้วสั่งไม่ฟ้องฐานวิ่งราวคงสั่งฟ้องฐานลักทรัพย์ (ซึ่งเป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลแขวง) เช่นนี้เมื่ออัยการฟ้องข้อหาฐานลักทรัพย์ต่อศาลอาญาศาลอาญาจำต้องรับคดีนี้ไว้พิจารณา (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 15/2503)
ความในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(2) ที่ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลจังหวัดที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวงนั้น ใช้ได้แต่ในระบบที่ศาลแขวงมิได้เป็นศาลไต่สวนความผิดอาญาทั่วไปเท่านั้น
นอกจากราษฎรฟ้องกันเองแล้วย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ว่าคดีตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ พ.ศ.2499 เท่านั้นที่จะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีในศาลแขวงตามพระราชบัญญัตินี้ได้ อัยการหาอาจเป็นโจทก์ในศาลแขวงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ พ.ศ.2499 นี้ได้ไม่ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2503)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 โดยยื่นฟ้องต่อศาลอาญา และกล่าวมาในฟ้องด้วยว่าคดีนี้ศาลแขวงธนบุรีได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่า คดีมีมูลฐานวิ่งราวทรัพย์ ให้ประทับฟ้องไว้ อัยการได้รับสำนวนจากศาลแขวงและอัยการได้พิจารณาโดยความเห็นชอบจากอธิบดีกรมอัยการ สั่งไม่ฟ้องจำเลยในข้อหาฐานวิ่งราวทรัพย์และสั่งให้ฟ้องในข้อหาฐานลักทรัพย์
ศาลอาญาสั่งว่า คดีนี้โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 ซึ่งมีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน6,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง โจทก์ชอบที่จะยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแขวง จึงสั่งไม่รับพิจารณาพิพากษาคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ศาลแขวงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499ซึ่งได้ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดคดีนี้ คือ ก่อนพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503 นั้น มีระบบวิธีการแตกต่างกันอยู่กล่าวโดยย่อก็คือ ศาลแขวงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ พ.ศ. 2499 นี้ กฎหมายต้องการให้เป็นศาลไต่สวนเบื้องต้นสำหรับคดีอาญาทุกคดีและผู้ที่จะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีในศาลแขวงนั้น นอกจากราษฎรฟ้องกันเองแล้ว ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ว่าคดีตามความในมาตรา 5 เท่านั้นพนักงานอัยการหาอาจจะเป็นโจทก์ในศาลแขวงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ พ.ศ. 2499 นี้ได้ไม่
ระบบการศาลไต่สวนมีอยู่ดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อัยการไปฟ้องหรือสั่งให้ผู้ว่าคดีกลับไปฟ้องคดีเดียวกันที่ศาลแขวงสั่งว่าคดีมีมูลในฐานวิ่งราวทรัพย์นั้นอีกไม่อำนาจอัยการมีแต่จะยื่นฟ้องยังศาลที่มีอำนาจอื่นนอกจากศาลแขวงคือ ศาลอาญาหรือศาลจังหวัดแล้วแต่กรณี พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ พ.ศ. 2499 มาตรา 16 เป็นกรณีให้อำนาจเฉพาะอัยการเป็นพิเศษที่จะฟ้องฐานความผิดอื่นได้เท่านั้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ความในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(2) ที่ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวงนั้น ใช้บังคับได้แต่ในเฉพาะกรณีที่ศาลแขวงกับศาลจังหวัดมีเขตอำนาจควบคู่กันและทับกันอยู่เท่านั้น กล่าวคือใช้ได้แต่ในระบบที่ศาลแขวงมิได้เป็นศาลไต่สวนความผิดอาญาทั่วไปซึ่งถ้าอยู่ในระบบนั้น โจทก์จะฟ้องคดีอาญาต่อศาลแขวงหรือศาลจังหวัดก็ได้ กฎหมายจึงให้ดุลพินิจของศาลจังหวัดไว้ เมื่อคดีนี้เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ พ.ศ. 2499 ส่วนพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503 ยังมิได้ออกใช้บังคับ ระบบการศาลแขวงเป็นระบบศาลไต่สวนเบื้องต้นอยู่ส่วนหนึ่ง คดีที่ศาลแขวงสั่งมีมูลแล้วจึงไม่มีทางที่จะกลับไปพิจารณาพิพากษาในศาลแขวงนั้นได้อีก
ศาลฎีกาจึงเห็นโดยมติที่ประชุมใหญ่ว่า ศาลอาญาจำต้องรับคดีนี้ไว้พิจารณา ศาลฎีกาพิพากษากลับศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอาญาประทับรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป