แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า เมื่อมีการเลิกสัญญาเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้ให้เช่าซื้อรับไว้และกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนสัญญาเลิกกันคงเรียกได้เพียงค่าที่จำเลยใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ครอบครองอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรค 3 และค่าเสียหายเพราะเหตุอื่นที่จำเลยต้องรับผิดนอกเหนือจากค่าเสียหายอันเกิดแต่การใช้ทรัพย์โดยชอบ แม้คำฟ้องของโจทก์จะระบุมาเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้าง แต่ตามคำบรรยายฟ้องกล่าวว่า การที่จำเลยผิดนัดผิดสัญญาต่อโจทก์จนโจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดรถที่เช่าซื้อกลับคืน ทำให้โจทก์เสียหายคือจำเลยครอบครองใช้รถของโจทก์โดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 11 ถึงงวดที่ 17 เป็นเงิน 58,053 บาท จึงพอถือได้ว่าโจทก์ได้เรียกค่าเสียหายฐานใช้รถของโจทก์ตลอดเวลาที่จำเลยยังครอบครองอยู่ ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พร้อมอุปกรณ์ประจำรถยนต์และยางอะไหล่จากโจทก์ ในวันเดียวกันจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ถึงงวดวันที่ 15 มกราคม 2532หรืองวดที่ 10 หลังจากนั้นไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์อีกเลยจนกระทั่งวันที่ 25 สิงหาคม 2532 โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากจำเลยที่ 1 ครอบครองใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อในระหว่างผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวด วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2532 หรืองวดที่ 11 ถึงงวดวันที่ 15 สิงหาคม 2532 หรืองวดที่ 17คิดคำนวณเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ 58,053 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 65,309 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปี ในต้นเงิน 58,053 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 574 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า เมื่อมีการเลิกสัญญาเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้ให้เช่าซื้อรับไว้และกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนสัญญาเลิกกันอีกได้ โจทก์คงเรียกอีกได้เพียงค่าที่จำเลยที่ 1 ใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ครอบครองอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรค 3และค่าเสียหายเพราะเหตุอื่นที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดนอกเหนือจากค่าเสียหายอันเกิดแต่การใช้ทรัพย์โดยชอบ อย่างไรก็ตาม แม้คำฟ้องของโจทก์จะเรียกร้องโดยระบุมาเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้าง แต่ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์กล่าวว่า การที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดผิดสัญญาต่อโจทก์จนโจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืน ทำให้โจทก์เสียหาย คือจำเลยที่ 1 ครอบครองใช้รถยนต์ของโจทก์โดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวด ที่ 11 ถึงงวดที่ 17 เป็นเงิน58,053 บาท จึงพอถือได้ว่าโจทก์ได้เรียกค่าเสียหายฐานใช้รถยนต์ของโจทก์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังครอบครองอยู่ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายได้ เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินของโจทก์แล้ว ปรากฏว่าโจทก์ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาซึ่งราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์ย่อมบวกค่าเช่าด้วยมีราคาสูงกว่าราคาขายด้วยเงินสดมากจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน 85,053 บาท การที่โจทก์เรียกค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดจนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญา และยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเป็นเงิน 58,053 บาท ศาลฎีกาเห็นว่าสูงเกินไป เห็นสมควรลดค่าเสียหายลงเป็นเงิน 25,500 บาทซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดด้วย
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 25,500 บาทพร้อมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ