คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 101/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจที่กระทำในเมืองต่างประเทศ โดยมีโนตารีปับลิกรับรองว่า รองประธานบริษัทได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจต่อหน้าตนนั้น เทียบเคียงได้กับกรณีการเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจที่ได้ทำในเมืองต่างประเทศ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 47 วรรคสาม คือไม่จำเป็นต้องมีเจ้าพนักงานกงสุลไทยหรือสถานทูตไทยรับรองเป็นพยานอีกชั้นหนึ่ง แม้เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยจะรับรองหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ในภายหลัง เมื่อไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของบุคคลที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบหักล้างหรือโต้แย้งอย่างใดแล้ว ศาลก็รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีนายเดวิด เอ็ม เอ็นเนียน เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์ได้แต่งตั้งผู้มีชื่อ 3 คน ในประเทศไทยเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทน โจทก์ผลิตและจำหน่ายสินค้า โดยใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “KANGAROOS” และ “ROOS” อ่านว่า “แกงการูส์”และ “รูส์” พร้อมรูปรอยประดิษฐ์ที่เป็น “รูปจิงโจ้” ได้โฆษณาสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลกว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นของโจทก์แต่ผู้เดียว และโจทก์ได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้แล้วในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2529จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เลขที่ 159353อักษรโรมันคำว่า “ROOS” อ่านออกเสียงว่า “รูส” พร้อมรูปรอยประดิษฐ์”จิงโจ้” และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2529 โจทก์ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “ROOS” อ่านว่า “รูส์”ตามคำขอเลขที่ 159857 เพื่อใช้สิทธิในการคัดค้านการยื่นคำขอจดทะเบียนของจำเลยดังกล่าว โจทก์และจำเลยตกลงกันไม่ได้ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยและให้นายทะเบียนกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่ผู้เดียว
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และใบมอบอำนาจปลอมเพราะไม่มีเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยรับรองลายมือชื่อของเจ้าพนักงานโนตารีปับลิก นายสมพงษ์ สินประสิทธิ์ จึงไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจตามกฎหมายไม่มีอำนาจแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีนี้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยมีรูปลักษณะต่างกัน จำเลยมีสิทธิดีกว่าโจทก์ในการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ROOS” ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยในเครื่องหมายการค้าคำว่า “ROOS” ให้นายทะเบียนกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำว่า “ROOS” ตามคำขอเลขที่ 159857 แต่ผู้เดียว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาข้อแรกว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้มอบอำนาจเป็นเพียงรองประธานบริษัทมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท พยานหลักฐานโจทก์มีนายสมพงษ์ สินประสิทธิ์ ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเบิกความประกอบหนังสือรับรองของเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกแห่งรัฐมิสซูรีและเจ้าพนักงานกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาและหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ เอกสารหมาย จ.2 จ.3 ได้ความว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่รัฐมิสซูรีประเทศสหรัฐอเมริกา นายเดวิดเอ็ม เอ็นเนียน ในฐานะรองประธานบริษัทได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจต่อหน้าโนตารีปับลิกโดยเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการได้ประทับตราในนามบริษัทแล้ว จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าความจริงผู้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้คดีจึงต้องฟังว่าผู้มอบอำนาจเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์กระทำในเมืองต่างประเทศได้นำไปให้เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยรับรองในภายหลัง จึงไม่สมบูรณ์นั้นเห็นว่าหนังสือมอบอำนาจที่กระทำในเมืองต่างประเทศโดยมีโนตารีปับลิกรับรองว่ารองประธานบริษัทได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจต่อหน้าตนนั้นเทียบเคียงได้กับกรณีการเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจที่ได้ทำในเมืองต่างประเทศ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 47 วรรคสาม คือไม่จำเป็นต้องมีเจ้าพนักงานสถานกงสุลไทยหรือสถานฑูตไทยรับรองเป็นพยานอีกชั้นหนึ่ง แม้เจ้าหน้าที่สถานกงสุลไทยจะรับรองหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ในภายหลัง เมื่อไม่ปรากฎเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของบุคคลที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบหักล้างหรือโต้แย้งอย่างใดแล้ว ศาลก็รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติได้ว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อสองว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และจำเลยไม่ได้ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น เห็นว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “ROOS”ตามเอกสารหมาย จ.23 ของโจทก์และเครื่องหมายการค้าคำว่า “ROOS”ตามเอกสารหมาย จ.30 ของจำเลยเป็นคำอักษรโรมันประดิษฐ์โดยมีจำนวนตัวอักษรเท่ากัน ลักษณะตัวอักษรและการเรียงตัวอักษรเหมือนกันและการอ่านออกเสียงก็เกือบเหมือนกันคือของโจทก์อ่านว่า “รูส์”ของจำเลยอ่านว่า “รูส” มีข้อแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย คือขนาดตัวอักษรของจำเลยใหญ่กว่าของโจทก์เล็กน้อย และของจำเลยมีลายเส้นเหมือนตัวจิงโจ้ อยู่ใต้ตัวอักษร ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจำเลยได้ประดิษฐ์ลายเส้นเพิ่มเติมลงไปใต้ตัวอักษร เพื่อให้แตกต่างกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยคำว่า “ROOS” ตามเอกสารหมาย จ.20ซึ่งจำเลยได้ยื่นก่อนหน้านี้และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยยกคำขอดังกล่าวไปแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยอยู่ที่ตัวอักษรโรมันคำว่า”ROOS” และสำเนียงเรียกขาน แม้จำเลยจะเพิ่มเติมลายเส้นลงใต้ตัวอักษรเครื่องหมายการค้าของจำเลยก็ไม่ทำให้เกิดความแตกต่างในสาระสำคัญแต่อย่างไรข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า”ROOS” ของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.30 เหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “ROOS” ตามเอกสารหมาย จ.23ของโจทก์ พยานบุคคลและพยานเอกสารที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าตามฟ้อง โดยเริ่มใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ROOS” กับสินค้าดังกล่าว ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ. 2522 และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ROOS”ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศต่าง ๆ หลายสิบประเทศได้มีการโฆษณาสินค้าและจัดแสดงสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในนิตยสารต่าง ๆ ทั่วโลกจนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเกือบทุกประเทศ และพยานที่โจทก์นำสืบเชื่อได้ว่าสินค้าที่โจทก์ผลิตก็มีจำหน่ายแพร่หลายในประเทศไทย ตามใบสั่งซื้อของตัวแทนโจทก์ที่เมืองฮ่องกงส่งมาจำหน่ายที่ประเทศไทย ตามเอกสารหมาย จ.18ข้อที่จำเลยอ้างว่า จำเลยเป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า”ROOS” ขึ้นมาเองโดยไม่มีพยานสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “ROOS” ดีกว่าจำเลย คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share