คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10095/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงิน กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ถึงแม้ผู้ร้องมิได้นำสืบว่าการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นเมื่อใด การที่ลูกหนี้ที่ 1 ขอลดวงเงิน แสดงว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับเจ้าหนี้ยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้เดิมย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องคือนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2543 และวันที่ 28 ธันวาคม 2542 ตามลำดับ เมื่อต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2552 ลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยยอมรับสภาพหนี้ว่า เพียง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2548 ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้อง 268,157,036.43 บาท ถือว่าลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นรับสภาพหนี้ต่อผู้ร้องตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 1 ย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 3 ผู้ค้ำประกันด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 และมาตรา 193/14 ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2552 ผู้ร้องนำสิทธิเรียกร้องมายื่นคำร้องขอคดีนี้วันที่ 8 มิถุนายน 2553 คดีของผู้ร้องไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่
ลูกหนี้ทั้งสามไม่ยื่นคำคัดค้าน และลูกหนี้ที่ 3 ขาดนัดพิจารณาระหว่างการพิจารณา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนคำร้องลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาต และให้จำหน่ายคดีของลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 จากสารบบความ
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน 25,000,000 บาท และสัญญากู้เงินจำนวน 136,000,000 บาท กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 27 ตุลาคม 2536 และฉบับลงวันที่ 28 ธันวาคม 2542 โดยมีลูกหนี้ที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 นำที่ดินจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2544 ผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวซึ่งเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาจากเจ้าหนี้เดิม หลังจากนั้นผู้ร้องมีหนังสือบอกกล่าวให้ลูกหนี้ทั้งสามติดต่อเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้ที่ 3 เพิกเฉย ส่วนลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับผู้ร้องเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2552 ก่อนฟ้องผู้ร้องมีหนังสือบอกกล่าวให้ลูกหนี้ทั้งสามชำระหนี้หรือเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้กับผู้ร้อง ลูกหนี้ทั้งสามได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้วเพิกเฉย
ปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องมีว่า มูลหนี้ตามคำร้องขาดอายุความซึ่งถือเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ที่ 3 ล้มละลาย หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่า ภายหลังจากลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับเจ้าหนี้เดิมในวงเงิน 25,000,000 บาท ต่อมาลูกหนี้ที่ 1 ขอลดวงเงิน 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2543 ลดวงเงินเหลือ 10,000,000 บาท ตามบันทึกต่อท้ายสัญญา ส่วนหนี้กู้ยืมเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2542 ลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญากู้เงินเจ้าหนี้เดิมจำนวน 136,000,000 บาท ลูกหนี้ที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้แก่เจ้าหนี้เดิมเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 วงเงิน 20,000,000 บาท และวันที่ 28 ธันวาคม 2542 วงเงิน 136,000,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกัน ดังนี้ เห็นว่า สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ถึงแม้ผู้ร้องมิได้นำสืบว่าการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นเมื่อใด การที่ลูกหนี้ที่ 1 ขอลดวงเงิน แสดงว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับเจ้าหนี้ยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้เดิมย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องคือนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2543 และวันที่ 28 ธันวาคม 2542 ตามลำดับ เมื่อต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2552 ลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยยอมรับสภาพหนี้ว่า เพียง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2548 ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้อง 268,157,036.43 บาท ถือว่าลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นรับสภาพหนี้ต่อผู้ร้องตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 1 ย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 3 ผู้ค้ำประกันด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 692 และมาตรา 193/14 ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2552 ผู้ร้องนำสิทธิเรียกร้องมายื่นคำร้องขอคดีนี้วันที่ 8 มิถุนายน 2553 คดีของผู้ร้องไม่ขาดอายุความ ผู้ร้องมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่าคดีของผู้ร้องขาดอายุความ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 3 เด็ดขาดตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้ลูกหนี้ที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนผู้ร้อง โดยหักจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 3 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร

Share