คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การว่าหนังสือมอบอำนาจกระทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 ศาลต้องหยิบยกประเด็นเรื่องหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 กระทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีตัวโจทก์ที่ 1 มาเบิกความยืนยันว่าได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีแทน โดยยืนยันว่าลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 จริงโดยจำเลยไม่นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีแทนเช่นนี้ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ได้ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยให้แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ขับรถยนต์ไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารของจำเลย ลูกจ้างของจำเลยรับรถยนต์ ของโจทก์ไปจอดยังที่จำเลยจัดไว้เป็นการบรรยายว่า จำเลยได้รับฝากรถยนต์ของโจทก์ และบรรยายฟ้องต่อไปว่า ลูกจ้างของจำเลยได้ย้ายรถยนต์ของโจทก์จากบริเวณหน้าห้องอาหารซึ่งมีพนักงานของจำเลยเฝ้าดูแลไปจอดยังริมถนนฝั่งตรงข้ามไม่มีพนักงานของจำเลยเฝ้าดูแลรถยนต์ของโจทก์จึงหายไปอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขัดกันไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2เป็นผู้ฟ้องคดีแทน โจทก์ทั้งสองเป็นพี่น้องกัน และได้ร่วมกันประกอบกิจการค้าขายสินค้าเบ็ดเตล็ด โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ครอบครองรถยนต์นั่งสองแถวยี่ห้ออีซูซุคันหมายเลขทะเบียน 3 ร-5996กรุงเทพมหานคร โดยเช่าซื้อจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็ม.ซี.ซีจำกัด และได้ประกันภัยค้ำจุนไว้กับบริษัทนำสินประกันภัย จำกัดซึ่งประกันคุ้มครองถึงรถหายด้วยในทุนประกัน 100,000 บาท จำเลยเป็นเจ้าของห้องอาหารชื่อ “ป๊อปปี้ คาเฟ่” เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม2530 เวลา 19.45 นาฬิกา โจทก์ที่ 2 ได้ไปรับประทานอาหารที่ห้องอาหารของจำเลย โดยได้นำรถยนต์นั่งสองแถวคันหมายเลขทะเบียน3 ร-5996 กรุงเทพมหานคร ไปจอดที่หน้าห้องอาหาร นายสมชาย บุตโคตรพนักงานจัดที่จอดรถซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยได้นำรถคันดังกล่าวไปจอดยังสถานที่ซึ่งห้องอาหารจัดไว้และรับเอากุญแจรถยนต์จากโจทก์ที่ 2 ไปเก็บรักษาไว้ ขณะที่โจทก์ที่ 2 รับประทานอาหารอยู่นั้นนายอิ๊ด ธนะสิทธิ์ พนักงานจัดที่จอดรถซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยได้นำกุญแจรถยนต์คันดังกล่าวออกไปขับรถของโจทก์จากที่จอดไว้เดิมซึ่งมีพนักงานของจำเลยเฝ้าดูแลอยู่ไปจอดยังริมถนนฝั่งตรงข้างห่างไกลจากห้องอาหารมากและบริเวณดังกล่าวไม่มีพนักงานของจำเลยเฝ้าดูแลอยู่เลย ซึ่งนายอิ๊ดควรจะเฝ้าดูแลอยู่ แต่นายอี๊ดหาได้ใช้ความระมัดระวังเฝ้าดูรถของโจทก์แต่อย่างใดไม่ เมื่อโจทก์ที่ 2 รับประทานอาหารเสร็จและกลับออกมาเอารถ ปรากฏว่ารถยนต์ของโจทก์ซึ่งจำเลยรับฝากไว้ได้หายไป โจทก์ที่ 2 แจ้งให้จำเลยทราบจำเลยรับว่าจะติดตามคืนมาให้ แต่ก็ไม่สามารถติดตามคืนมาได้ทั้งยังบิดพลิ้วไม่ชำระราคาทรัพย์ที่จำเลยรับฝากไว้ให้โจทก์จนกระทั่งบัดนี้สภาพรถของโจทก์ทั้งสองขณะที่หายมีราคาไม่ต่ำกว่า230,000 บาท โจทก์ทั้งสองและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็ม.ซี.ซี.จำกัด ได้รับชำระค่าเสียหายบางส่วนจากบริษัทนำสินประกันภัย จำกัดแล้วเป็นเงิน 100,000 บาท ดังนั้น โจทก์ทั้งสองยังคงเสียหายอยู่อีกเป็นเงินจำนวน 130,000 บาท และขณะที่จำเลยรับฝากรถของโจทก์ทั้งสองนั้น ในรถยนต์คันดังกล่าวมีสินค้าอะไหล่รถจักรยานยนต์ของโจทก์ทั้งสองอยู่ด้วยรวม 7 รายการ คิดเป็นเงิน 73,500 บาทต่อมาโจทก์ได้รับอะไหล่รถจักรยานยนต์ดังกล่าวคืนมาบางส่วนคิดเป็นเงิน 2,990 บาท นอกนั้นไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ คงเหลือราคาอะไหล่รถจักรยานยนต์ที่โจทก์ยังไม่ได้รับคืนจำนวน 70,510 บาทจำเลยในฐานะผู้รับฝากรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 3 ร-5996กรุงเทพมหานคร และในฐานะนายจ้างของนายอี๊ด ซึ่งกระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลย จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องรับผิดชดใช้ราคารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 3 ร-5996 กรุงเทพมหานคร เป็นเงินจำนวน 130,000 บาท และราคาอะไหล่รถจักรยานยนต์ จำนวน 70,510 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 200,510 บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 200,510 บาทแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน200,510 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน170,510 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25มกราคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ห้ามมิให้จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2ฟ้องคดีแทน พยานโจทก์และจำเลยยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยรับฝากรถยนต์ไว้จากโจทก์ โจทก์ได้รับสิ่งของที่สูญหายไปคืนหมดแล้วจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยฎีกาต่อไปว่า โจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันประกอบการค้าร่วมกับพี่ชาย บิดาและพี่น้อยคนอื่น ๆ โจทก์มิได้รับมอบอำนาจจากพี่น้องคนอื่นรวมทั้งบิดาด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่า จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีเพียงว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ไม่ใช่พี่น้องกันและไม่ได้ร่วมกันประกอบกิจการค้าขายสินค้าเบ็ดเตล็ดดังที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทตามที่จำเลยฎีกา ไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การว่าหนังสือมอบอำนาจกระทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 ศาลต้องหยิบยกประเด็นเรื่องหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1กระทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยนั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีตัวโจทก์ที่ 1 มาเบิกความยืนยันว่าได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีแทน โดยยื่นยันว่าลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 จริงส่วนจำเลยไม่นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นจึงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีแทน เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยให้แล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยฐานความผิดฝากทรัพย์และละเมิดไม่แน่นอนว่าจะให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ฐานใดจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ขับรถยนต์ไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารของจำเลย ลูกจ้างของจำเลยรับรถยนต์ของโจทก์ไปจอดยังที่จำเลยจัดไว้ เป็นการบรรยายว่าจำเลยได้รับฝากรถยนต์ของโจทก์ และบรรยายฟ้องต่อไปว่าลูกจ้างของจำเลยได้ย้ายรถยนต์ของโจทก์จากบริเวณหน้าห้องอาหารซึ่งมีพนักงานของจำเลยเฝ้าดูแลไปจอดยังริมถนนฝั่งตรงข้าม ไม่มีพนักงานของจำเลยเฝ้าดูแลรถยนต์ของโจทก์จึงหายไป อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขัดกันไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุมตามที่จำเลยฎีกา
พิพากษายืน

Share