คำสั่งคำร้องที่ 1509/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ศาลแรงงานกลางสั่งว่ายื่นเมื่อพ้นระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ไม่รับเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง
โจทก์เห็นว่า เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์คดีนี้ทนายโจทก์ได้รอฟังคำสั่งศาลอยู่จนหมดเวลาทำการก็ยังไม่ทราบคำสั่งศาล เพราะเจ้าหน้าที่ศาลหาสำนวนไม่พบ จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2529ทนายโจทก์จึงพบสำนวนคดีนี้และได้ทราบคำสั่งศาลที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2529 โจทก์จึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ซึ่งก็เป็นการยื่นอุทธรณ์ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่โจทก์ทราบคำสั่งศาล จริงอยู่แม้ว่าตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจะกำหนดให้นับแต่วันที่ศาลสั่งก็ตามเมื่อกรณีมีพฤติการณ์พิเศษเช่นกรณีของโจทก์ทั้งมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจจะมีคำขอต่อศาลก่อนสิ้นระยะเวลาที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดไว้ ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ได้โดยอาศัยมาตรา 23ประกอบกับคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์คดีนี้เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการพิจารณาและวินิจฉัยโดยศาลสูง โปรดกลับคำสั่งของศาลชั้นต้นและสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ ศาลแรงงานกลางได้ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับแล้ว (อันดับ 83)
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมและอัตราค่าจ้างเดิม ให้จำเลยใช้ค่าชดเชย 250,000 บาทค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ และใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาทให้โจทก์ด้วย
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2529 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในวันเดียวกันนั้นว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ ไม่รับอุทธรณ์
โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ลงวันที่ 22สิงหาคม 2529 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 80)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 81)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว โจทก์อ้างเหตุที่ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเมื่อพ้นกำหนด 10 วันว่าเพราะเจ้าพนักงานศาลหาสำนวนไม่พบ ซึ่งหากเป็นความจริงก็จะถือว่าโจทก์ยื่นคำร้องเมื่อพ้นระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 มิได้ ศาลแรงงานกลางด่วนมีคำสั่งไปทีเดียวโดยไม่ทำการไต่สวนให้ได้ความจริงก่อนเป็นการไม่ชอบ จึงให้ศาลแรงงานกลางทำการไต่สวนตามที่กล่าว แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share