คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1007/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิและข้อกำหนดว่าด้วยทรัพย์สินของมูลนิธิตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 82 (3) และ (4) นั้น ตามมาตรา 84 หาได้ยอมให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดขอร้องให้ศาลกำหนดขึ้นได้ไม่ อันแสดงว่าเจตนารมย์ของกฎหมายประสงค์จะให้ผู้ก่อตั้งมูลนิธิแต่ผู้เดียวเป็นผู้กำหนดในตราสารจัดตั้งและจะขาดเสียมิได้ เพราะรายการทั้งสองดังกล่าวเป็นสารสำคัญอันถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบของการที่จะเป็นมูลนิธิตามมาตรา 81
ข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับการก่อตั้งมูลนิธิมีว่า “โฉนดที่ดินหมายเลขที่ 6483 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 35 วา ขอมอบให้เป็นมูลนิธิมงคล รักสำรวจ” เช่นนี้ พินัยกรรมดังกล่าวมิได้ระบุข้อความเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิมงคล รักสำรวจ ไว้ ย่อมทำให้มูลนิธิมงคล รักสำรวจ ไม่สามารถจัดตั้งขึ้นได้ ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวจึงหาใช่เป็นข้อกำหนดพินัยกรรมที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1676 ไม่ เพราะมิได้ระบุให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะก่อตั้งมูลนิธิเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งมิได้มีการสั่งให้จัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 81 ข้อกำหนดพินัยกรรมของนายมงคลที่ว่าขอมอบที่ดินให้เป็นมูลนิธิมงคล รักสำรวจ จึงไม่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ที่ดินโฉนดที่ 6483 จึงตกทอดแก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทลำดับ 3 ของเจ้ามรดกแต่เพียงคนเดียวตามมาตรา 1699 เพราะโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับสูงกว่าซึ่งเหลืออยู่เพียงผู้เดียวได้สละมรดกแล้ว กรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินจำเลยจึงต้องรับจดทะเบียนโอนแก้ทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เป็นของโจทก์ที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องใจความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นกรมในรัฐบาล จำเลยที่ ๒ เป็นพนักงานที่ดินอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของนายมงคล หรือวารินทร์ รักสำรวจ โจทก์ที่ ๒ เป็นบุตรโจทก์ที่ ๑ และเป็นพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกับนายมงคล รักสำรวจ นายมงคลถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๑๔ โดยได้ทำพินัยกรรมไว้ ตามพินัยกรรมดังกล่าวข้อ ๒ (๑) ผู้ตายยกโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๔๘๓ ตำบลตลิ่งชัน อำเภอตลิ่งชัน นครหลวงกรุงเทพธนบุรี เนื้อที่ ๑ ไร่ ๓๕ วาให้เป็นมูลนิธิ มงคล รักสำรวจ โจทก์ที่ ๑ ได้จัดการโอนแก้ทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมาเป็นชื่อของโจทก์ที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกแล้ว แต่เนื่องจากพินัยกรรมดังกล่าว เจ้ามรดกมิได้ทำข้อกำหนดว่าด้วยวัตถุประสงค์ของมูลนิธิไว้ โจทก์ที่ ๑ จึงไม่สามารถจัดตั้งมูลนิธิขึ้นได้ ข้อกำหนดพินัยกรรมในการจัดตั้งมูลนิธิจึงเป็นอันไร้ผล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๗๙ ที่ดินแปลงนี้จึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ที่ ๑ แต่โจทก์ที่ ๑ ไม่ประสงค์จะรับมรดกรายนี้และได้สละมรดกแล้ว ที่ดินดังกล่าวจึงตกได้แก่โจทก์ที่ ๒ โจทก์ทั้งสองได้ไปยื่นคำขอต่อจำเลยให้จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ที่ ๒ แต่จำเลยไม่รับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยรับจดทะเบียนโอนแก้ทะเบียนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๔๘๓ ให้โจทก์ที่ ๒
จำเลยทั้งสองให้การว่า ตามพินัยกรรมของนายมงคลหรือวารินทร์ รักสำรวจ ที่ดินโฉนดที่ ๖๔๘๓ เป็นมรดกตกทอดไปเป็นทรัพย์ของมูลนิธิ “มงคล รักสำรวจ” นับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องร้องขอให้รัฐบาลให้อำนาจจัดตั้งมูลนิธิ “มงคล รักสำรวจ” ขึ้นเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๗๖,๑๖๗๗ และโอนที่ดินพิพาทให้เป็นของมูลนิธิดังกล่าวต่อไป ข้อกำหนดพินัยกรรมในการจัดตั้งมูลนิธิไม่เป็นอันไร้ผลตามมาตรา ๑๖๗๙ เพราะแม้พินัยกรรมจะไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์ไว้ ก็ถือได้ว่าเจ้ามรดกประสงค์ให้ก่อตั้งมูลนิธิโดยมีวัตถุที่ประสงค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๑ ที่ดินพิพาทไม่ตกทอดไปเป็นของโจทก์ที่ ๒ จำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจรับจดทะเบียนโอนแก้ทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้เป็นของโจทก์ที่ ๒ ได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พินัยกรรมนายมงคล รักสำรวจ เพียงแต่กำหนดให้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๔๘๓ ให้เป็นมูลนิธิมงคล รักสำรวจ แต่มิได้กำหนดวัตถุประสงค์ของมูลนิธิอันถือว่าเป็นส่วนสำคัญไว้ จึงไม่เป็นการจัดตั้งมูลนิธิตามกฎหมาย ข้อกำหนดพินัยกรรมในการจัดตั้งมูลนิธิเป็นอันไร้ผล ที่ดินพิพาทจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม พิพากษาให้จำเลยรับจดทะเบียนโอนแก้ทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๖๔๘๓ ตำบลตลิ่งชัน อำเภอตลิ่งชัน นครหลวงกรุงเทพธนบุรี ให้โจทก์ที่ ๒ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ แต่มีความเห็นแย้งของผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งมีเสียงข้างน้อยว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนที่เกี่ยวแก่การจัดตั้งมูลนิธิเป็นอันไร้ผล เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
คดีได้ความว่า ผู้ตายมีทายาทเพียง ๒ คน คือโจทก์ทั้งสอง ข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับการก่อตั้งมูลนิธิมีข้อความว่า โฉนดที่ดินหมายเลขที่ ๖๔๘๓ ตำบลตลิ่งชัน อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๓๕ วา ขอมอบให้เป็นมูลนิธิมงคล รักสำรวจ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้พิจารณาแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒ บัญญัติว่า “มูลนิธินั้นจะต้องก่อตั้งขึ้นด้วยทำตราสารลงไว้ มีข้อความสำคัญตามรายการต่อไปนี้ ๑. ชื่อของมูลนิธิ ๒. วัตถุที่ประสงค์ของมูลนิธิ ๓. สำนักงานของมูลนิธิ แม้จะพึงมี ๔. ข้อกำหนดว่าด้วยทรัพย์สินของมูลนิธิ ๕. ข้อกำหนดว่าด้วยการตั้งแต่และถอดถอนผู้จัดการทั้งหลายของมูลนิธิ” เห็นว่า ตราสารที่ก่อตั้งมูลนิธิจะต้องมีข้อความสำคัญดังกล่าวข้างต้นนั้น รวม ๕ รายการด้วยกัน เฉพาะรายการที่ ๑ ว่าด้วยชื่อ รายการที่ ๓ ว่าด้วยสำนักงานและรายการที่ ๕ ว่าด้วยวิธีแต่งตั้งและถอดถอนผู้จัดการมูลนิธิ หากมิได้กำหนดไว้ในตราสารก่อตั้งมูลนิธิเพราะผู้ตั้งมูลนิธิตายเสียก่อน กฎหมายยอมให้ผู้มีส่วนได้เสียพนักงานอัยการร้องขอให้ศาลเป็นผู้กำหนดให้ได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๔ ส่วนรายการที่ ๒ ว่าด้วยวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ และรายการที่ ๔ ข้อกำหนดว่าด้วยทรัพย์สินของมูลนิธินั้น กฎหมายหาได้ยอมให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดขอร้องให้ศาลกำหนดขึ้นได้ไม่ อันแสดงว่าเจตนารมย์ของกฎหมายประสงค์จะให้ผู้ก่อตั้งมูลนิธิแต่ผู้เดียวเป็นผู้กำหนดวัตถุประสงค์และข้อกำหนดว่าด้วยทรัพย์สินของมูลนิธินั้นในตราสารจัดตั้งและจะขาดเสียมิได้ เพราะรายการทั้งสองดังกล่าวเป็นสารสำคัญอันถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบของการที่จะเป็นมูลนิธิตามมาตรา ๘๑ เมื่อพินัยกรรม จ.๑ มิได้ระบุข้อความเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิมงคล รักสำรวจไว้ เช่นนี้ย่อมทำให้มูลนิธิมงคล รักสำรวจไม่สามารถจัดตั้งขึ้นได้ ข้อกำหนดพินัยกรรมหมาย จ.๑ ในการจัดตั้งมูลนิธิมงคล รักสำรวจจึงหาใช่เป็นข้อกำหนดพินัยกรรมที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๗๖ ไม่ เพราะมิได้ระบุให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะก่อตั้งมูลนิธิเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งมิได้มีการสั่งให้จัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตามบทบัญญัติ มาตรา ๘๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อกำหนดพินัยกรรมของนายมงคลที่ว่าขอมอบที่ดินให้เป็นมูลนิธิมงคล รักสำรวจจึงไม่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ที่ดินโฉนดพิพาทจึงตกทอดแก่โจทก์ที่ ๒ ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ ๓ ของเจ้ามรดกแต่เพียงคนเดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๙๙ เพราะโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับสูงกว่าได้สละมรดกแล้ว จำเลยทั้งสองจึงต้องรับจดทะเบียนโอนแก้ทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เป็นของโจทก์ที่ ๒ ตามฟ้อง ดังความเห็นแย้งของผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนข้างน้อย
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมรวมทั้งค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ.

Share