แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้ พ. ไปติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่ก.ต.ภ.มีใจความว่าขอมอบอำนาจให้พ. มาทำการติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องโรงภาพยนตร์ของโจทก์ ตลอดจนมีอำนาจรับทราบคำสั่งรับทราบกำหนดนัดและให้ถ้อยคำจนเสร็จการ ดังนี้ ถ้อยคำของ พ. ที่ให้ไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก.ต.ภ.ว่า ความจริงเป็นดังที่พนักงานเจ้าหน้าที่ก.ต.ภ.ตรวจพบ และขอรับผิดตามข้อกล่าวหาทุกประการ ย่อมถือว่าอยู่ในขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบหมาย เพราะเป็นถ้อยคำเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์ของโจทก์ หาเป็นการนอกเหนืออำนาจที่รับมอบไม่ โจทก์ย่อมถูกผูกพันให้ต้องรับผิดตามถ้อยคำนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.ต.ภ. ได้ทำการยึดเอกสารต่าง ๆ ของโจทก์มาทำการตรวจสอบที่สำนักงาน ก.ต.ภ. จำเลยที่ 3 ได้ทำการตรวจสอบแล้วอ้างว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนประมวลรัษฎากรว่าด้วยอากรมหรสพ กล่าวคือ ไม่ฉีกตั๋วในขณะที่ได้รับจากผู้ดูให้แสตมป์ที่ปิดอยู่บนตั๋วขาดเป็นสองตอน จำนวน 7 ฉบับ จะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากร ภาษีบำรุงเทศบาล รวมเป็นเงิน 192.50 บาท กับอนุญาตให้คนเข้าดูมหรสพโดยไม่มีตั๋วปิดแสตมป์ซึ่งขีดฆ่าแสดงว่าได้เสียอากรมหรสพครบถ้วนแล้ว จำนวน 2,060 บาท จะต้องรับผิดชำระเงินอากรมหรสพ ภาษีบำรุงเทศบาล เงินเพิ่มอากร รวมเป็นเงิน 61,092.63 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์จะต้องรับผิดทั้งสิ้นเป็นเงิน 61,285 บาท 13 สตางค์ กรมสรรพากรจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 สั่งให้โจทก์นำเงินดังกล่าวไปชำระต่อกรมสรรพากรภายในกำหนด 10 วัน แต่โจทก์ยังไม่ได้ชำระเพราะโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของกรมสรรพากรจำเลยที่ 1 อนึ่ง การที่นายไพโรจน์ฉัตรภิญญาคุปต์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ขอรับผิดตามข้อกล่าวหาทุกประการ กับเจ้าพนักงาน ก.ต.ภ. นั้น เป็นการกระทำที่นอกเหนือไปจากอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ ขอศาลได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรมสรรพากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 และของเจ้าหน้าที่ ก.ต.ภ.ที่ให้โจทก์ชำระเงินอากรมหรสพ เงินเพิ่มอากร ภาษีบำรุงเทศบาลและเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงิน 61,092.63 บาท ว่าโจทก์ได้เสียอากรมหรสพในวันที่ 8, 9, 10 และ 26 มกราคม 2514 ถูกต้องแล้ว ฯลฯ
จำเลยทั้งสามให้การร่วมกันว่า โจทก์หลีกเลี่ยงอากรมหรสพโดยอนุญาตให้คนเข้าดูมหรสพของโจทก์โดยไม่มีตั๋วปิดแสตมป์ เนื่องจากโจทก์หลีกเลี่ยงไม่ชำระเงินดังกล่าว โจทก์จึงต้องเสียเงินเพิ่มสำหรับอากรมหรสพ และต้องเสียภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มอีก รวมเป็นเงินที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 61,092.63 บาท ซึ่งนายไพโรจน์ผู้จัดการมหรสพและผู้ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ ก็ได้รับรองว่าถูกต้องต่อความเป็นจริง ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงยุติว่าพนักงานฉีกตั๋วของโจทก์ไม่ฉีกอากรมหรสพให้ขาดเป็น 2 ท่อน และโจทก์อนุญาตให้คนเข้าดูมหรสพโดยไม่มีตั๋วปิดแสตมป์ซึ่งขีดฆ่าแสดงว่าได้เสียอากรครบถ้วนแล้ว โจทก์ต้องรับผิดชำระเงินอากรมหรสพ ภาษีบำรุงเทศบาล และเงินเพิ่ม รวม 61,151.15 บาท โจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายไพโรจน์ทำการติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ก.ต.ภ. เกี่ยวกับเรื่องโรงภาพยนตร์ราชเทวี ตามเอกสาร จ.1 และนายไพโรจน์ได้ให้ถ้อยคำต่อเรือเอกสำเริง จำเลยที่ 3 ผู้ตรวจสอบภาษีอากรเอก ที่สำนักงาน ก.ต.ภ.ว่าเป็นความจริงดังที่พนักงานเจ้าหน้าที่ ก.ต.ภ. ตรวจพบและขอรับผิดตามข้อกล่าวหาทุกประการ จึงลงชื่อให้ไว้เป็นหลักฐานตามเอกสารจ.31 ต่อมากรมสรรพากรมีหนังสือให้โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระภายในกำหนด โจทก์ไม่ปฏิบัติ
ที่โจทก์ฎีกาว่า คำรับรองที่นายไพโรจน์ให้ไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก.ต.ภ. ดังที่ปรากฏตามบันทึกถ้อยคำตามเอกสารหมาย จ.31เป็นการกระทำนอกขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อหนังสือมอบอำนาจศาลหมาย จ.1 ระบุว่า”ขอมอบอำนาจให้นายไพโรจน์ ฉัตรภิญญาคุปต์ ซึ่งลงชื่อท้ายนี้มาทำการติดต่อกับเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องโรงภาพยนตร์ราชเทวีตลอดจนมีอำนาจรับทราบคำสั่ง รับทราบกำหนดนัด และให้ถ้อยคำจนเสร็จการ” เช่นนี้ ถ้อยคำของนายไพโรจน์ที่ให้ไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก.ต.ภ. ว่าเป็นความจริงดังที่พนักงานเจ้าหน้าที่ก.ต.ภ. ตรวจพบและขอรับผิดตามข้อกล่าวหาทุกประการถือว่าอยู่ในขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบหมาย เพราะเป็นการให้ถ้อยคำเกี่ยวกับเรื่องโรงภาพยนตร์ราชเทวีของโจทก์ หาเป็นการนอกเหนืออำนาจที่รับมอบไม่ โจทก์ย่อมถูกผูกพันให้ต้องรับผิดตามถ้อยคำนั้น
พิพากษายืน