คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2405/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มีปากเสียงด่าโต้ตอบกันแล้วต่างหยุดไปต่อมาจำเลยที่ 3 เดินออกจากแผงร้านค้าของตนไปโทรศัพท์ที่แผงร้านค้าของ อ.และพูดคุยกับอ. เป็นเวลานานโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มีความโกรธแค้นจำเลยที่ 1 ขั้นตอนการสมัครใจทะเลาะวิวาทจึงยุติลงแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2ผู้เป็นบุตรทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 3 หลังจากจำเลยที่ 3 กลับจากการโทรศัพท์ที่แผงร้านค้าของ อ. จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297และไม่เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามมาตรา 69 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำร้ายจำเลยที่ 3 ก่อนจนถึงขั้นบาดเจ็บสาหัส การที่จำเลยที่ 3 ตอบโต้ไปบ้างแม้ทำให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กายก็เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิด โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 297ประกอบด้วยมาตรา 69 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 391 แม้ปัญหานี้จะยุติในศาลชั้นต้น เพราะทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้อุทธรณ์ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดตามมาตรา 297 ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้โดยไม่มีการเพิ่มโทษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297, 83 จำเลยที่ 3 ตามมาตรา 295 และริบของกลาง จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ประกอบด้วย มาตรา 69 จำคุก3 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ปรับ 300 บาท จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 3 เดือนปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามมาตรา 29, 30 ริบของกลาง จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 เหล็กของกลางให้คืนเจ้าของนอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ได้ความจากจำเลยที่ 3 ว่า หลังจากจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ด่าโต้ตอบกันจนกระทั่งจำเลยที่ 1 เปิดแผงร้านค้าแล้วก็หยุดการด่าโต้เถียงกัน แล้วจำเลยที่ 3 เดินไปโทรศัพท์ที่แผงของนางอัจฉราความข้อนี้นางอัจฉราพยานโจทก์เบิกความเจือสมว่าหลังจากพยานมาถึงแผงสักครู่ใหญ่ จำเลยที่ 3 ก็ได้มาขอใช้โทรศัพท์หลังจากนั้นพยานจึงไปไหว้เจ้าที่หลังตลาด เมื่อกลับมาจำเลยทั้งสามได้ก่อเหตุในคดีนี้เสร็จไปแล้ว จึงรับฟังได้ว่าการที่จำเลยที่ 3 เดินออกจากแผงร้านค้าของตนไปโทรศัพท์ที่แผงร้านค้าของนางอัจฉราเป็นเวลานานและขณะพูดคุยกับนางอัจฉราก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ยังมีความโกรธแค้นจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 3 ไม่ประสงค์จะทะเลาะวิวาทกับจำเลยที่ 1 ต่อไปอีกแล้วเรื่องก็น่าจะยุติเพียงเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำร้ายจำเลยที่ 3อีกหลังจากจำเลยที่ 3 กลับจากโทรศัพท์ที่แผงของนางอัจฉรา จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นฝ่ายลงมือก่อเหตุขึ้นก่อน คดีฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ประกอบมาตรา 69 และการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดตามมาตรา 391 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แม้ปัญหานี้จะยุติในศาลชั้นต้นเพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาชอบที่จะปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้ถูกต้องได้ โดยไม่เพิ่มโทษ และเมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นฝ่ายก่อเหตุทำร้ายจำเลยที่ 3 ก่อนเช่นนี้ จำเลยที่ 3 ชอบที่จะกระทำการป้องกันได้ เมื่อพิเคราะห์บาดแผลที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ลูกตาซ้ายแดงช้ำแขนซ้ายบวม น่องซ้ายถลอก หลังเท้าขวาถลอก อกข้างขวาช้ำ รักษาประมาณ 10 วัน จำเลยที่ 2 ริมฝีปากบนด้านในข้างขวาบวมช้ำขากรรไกรล่างด้านซ้ายบวม รักษาประมาณ7 วัน ซึ่งเป็นเพียงอันตรายแก่กาย ส่วนจำเลยที่ 3 ปลายนิ้วก้อยซ้ายฉีกขาดลึกถึงใต้ผิวหนัง ใบหน้ามีรอยผิวถลอกเป็นเส้นประมาณ 20 เส้นกระดูกปลายนิ้วก้อยซ้ายหักต้องรักษาประมาณ 30 วัน อันเป็นอันตรายสาหัส เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 พอสมควรแก่เหตุจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่มีความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ส่วนกำหนดโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share