แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การบอกล้างนิติกรรมนั้น กฎหมายมิได้กำหนดหรือบังคับไว้ว่าจะต้องทำอย่างไรด้วยแบบพิธีอย่างไร
แม้หนังสือของโจทก์ที่มีถึงจำเลยจะมีใจความว่าให้จำเลยถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนด แล้วเอาที่ดินตามโฉนดนั้นมาแบ่งปันให้พี่น้องจำเลยก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ไม่ให้นิติกรรม คือการลงชื่อจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินนั้นมีผลใช้ได้ต่อไป ซึ่งจะบังเกิดผลอย่างเดียวกับการบอกล้างโมฆียะกรรม ดังนี้ จึงถือได้ว่าโจทก์ได้บอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์สมรสกับนางแฉ่ง สูนาสวน เมื่อ พ.ศ. 2454โดยนางแฉ่งมีที่ดิน 1 แปลง โฉนดที่ 8552 ต่อมาเกิดสินสมรส คือที่ดินโฉนดที่ 100 และ 101 เมื่อ พ.ศ. 2502 จำเลยนำใบมอบอำนาจของนางแฉ่งไปจัดการโอนที่ดินโฉนดที่ 8552 ให้จำเลยโดยที่โจทก์ไม่ทราบและในปีเดียวกันนางแฉ่งได้จดทะเบียนให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 100 และ 101 ในส่วนของนางแฉ่งต่อมานางแฉ่งถึงแก่กรรม นายวิชัย สูนาสวน บุตรโจทก์ซึ่งเกิดกับนางแฉ่งได้ร้องขอรับมรดกของนางแฉ่ง จึงทราบความดังกล่าวข้างต้นโจทก์จึงบอกล้างนิติกรรมที่ทำขึ้นโดยมิชอบนั้น แต่จำเลยก็ไม่ถอนชื่อในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์ออกจากโฉนดนั้น ๆ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินโฉนดทั้งสามกลับมาเป็นของนางแฉ่งตามเดิม
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นบุตรนางแฉ่งเกิดกับนายง่วนห้อสามีเดิมของนางแฉ่ง ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปก่อนนางแฉ่งได้โจทก์เป็นสามีที่ดินโฉนดที่ 8552 เป็นของนางจูมารดานางแฉ่ง ยกให้จำเลยแต่ให้นางแฉ่งปกครองจนกว่าจำเลยจะบรรลุนิติภาวะ เมื่อจำเลยบรรลุนิติภาวะแล้ว จำเลยก็ได้ครอบครองตลอดมา และนางแฉ่งได้โอนให้จำเลยแล้วที่ดินโฉนดที่ 100 และ 101 นั้น มีข้อตกลงกันว่า ส่วนของนางแฉ่งให้ตกได้แก่บุตรนางแฉ่งที่เกิดกับนายง่วนห้อ ส่วนของโจทก์ให้ตกได้แก่บุตรโจทก์ที่เกิดกับนางแฉ่ง นางแฉ่งจึงโอนส่วนของตนให้จำเลยซึ่งโจทก์ทราบดี โจทก์ไม่เคยบอกล้างนิติกรรมอันเกี่ยวกับที่ดินนี้เลย การโอนที่ดิน 3 แปลงที่โจทก์ฟ้องจึงเป็นการชอบ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นิติกรรมที่นางแฉ่งทำโอนส่วนของตนให้จำเลยไปเป็นโมฆียะกรรม แต่ฟังไม่ได้ว่าโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมนั้นแล้ว จึงเพิกถอนนิติกรรมการโอนนั้นมิได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า โจทก์บอกล้างนิติกรรมที่กล่าวแล้วพิพากษากลับ ให้ถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดที่ดินทั้ง 3 แปลง แล้วลงชื่อนางแฉ่งเป็นเจ้าของไว้ตามเดิม
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้หนังสือของโจทก์ที่กำนันเอาไปให้จำเลยนั้นจะมีใจความสำคัญในเรื่องการบอกให้จำเลยถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดแล้วเอาที่ดินตามโฉนดนั้นมาแบ่งปันให้แก่พี่น้องของจำเลยก็ตามแต่การบอกให้ถอนชื่อออกแล้วเอาที่ดินตามโฉนดไปแบ่งปันให้แก่พี่น้องนั้น ก็เป็นการประสงค์ไม่ให้นิติกรรมคือการลงชื่อจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินในส่วนของนางแฉ่งไว้นั้นให้มีผลใช้ได้ต่อไปซึ่งจะบังเกิดผลอย่างเดียวกับการบอกล้างโมฆียะกรรมนั่นเอง และการบอกล้างโมฆียะกรรมนี้กฎหมายมิได้กำหนดหรือบังคับไว้ว่าจะต้องทำอย่างไร ด้วยแบบพิธีอย่างไร จึงถือได้ว่า โจทก์ได้บอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว
พิพากษายืน