คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1002/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเช่าห้องพิพาทภายหลังที่ห้องพิพาทถูกยึดในการบังคับคดีในคดีก่อนจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนั้น แม้โจทก์รับโอนห้องพิพาทจากผู้ซื้อในการบังคับคดีภายหลังที่จำเลยได้เช่าห้องพิพาทแล้ว ดังนี้ ห้องพิพาทได้ถูกยึดและขายโดยไม่มีการเช่าติดไปด้วย จำเลยไม่สามารถอ้างการเช่าขึ้นยันโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ขายห้องพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 305 เพราะการเช่าของจำเลยเป็นสิทธิที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ก่อให้เกิดขึ้นในทรัพย์สินภายหลังที่ถูกยึดแล้ว ผู้ซื้อและรับโอนต่อไปจึงได้ทรัพย์สินที่ซื้อไปโดยปลอดจากการเช่า จำเลยจะอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 มาใช้ในกรณีนี้ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 305 ไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าโดยสุจริตหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า คุณหญิงสร้อยบูรชลเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีแดงที่ ๑๘๙๕/๒๕๐๔ ของศาลแพ่ง นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดที่ ๓๕๕๖ มีห้องเลขที่ ๖๗๕/๑๐ ซึ่งจำเลยที่ ๓ ลูกหนี้ในคดีนั้นใช้อยู่เอง และได้ขายทอดตลาดเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๐๗ โดยคุณหญิงสร้อยฯ ซื้อแล้วโอนทะเบียนเมื่อ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๐๗ ให้โจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑, ๒ อยู่ในห้องและจำเลยที่ ๓ ทิ้งรถยนต์ไว้ในห้องนี้โดยไม่มีสิทธิ และไม่ยอมออก ขอให้ขับไล่จำเลยที่ ๑, ๒ และให้จำเลยที่ ๓ ย้ายรถยนต์ออกไป ให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ฯลฯ
จำเลยที่ ๑, ๒ ให้การว่า เมื่อคุณหญิงสร้อยฯ และโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องพิพาทไปแล้ว ไม่ยอมรับค่าเช่า ฯลฯ
ก่อนจำเลยที่ ๓ ยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๓
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ ๑, ๒ พร้อมกับบริวาร และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๑,๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑, ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ห้องพิพาทเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งถูกยึดในการบังคับคดี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ แต่เพิ่งจะถึงที่สุดและขายทอดตลาดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ จำเลยได้เช่าห้องพิพาทจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนั้นภายหลังที่ห้องพิพาทได้ถูกยึดแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ห้องพิพาทได้ถูกยึดและขายโดยไม่มีการเช่าติดไปด้วย จำเลยเช่าห้องพิพาทภายหลังที่ได้มีการยึดห้องพิพาทแล้ว จำเลยไม่สามารถอ้างการเช่าขึ้นยันโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ขายห้องพิพาทนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๐๕ เพราะการเช่าของจำเลยเป็นสิทธิที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ก่อให้เกิดขึ้นในทรัพย์สินภายหลังที่ถูกยึดแล้ว ผู้ซื้อและรับโอนต่อไปจึงได้ทรัพย์สินที่ซื้อไปโดยปลอดจากการเช่าดังกล่าวนั้น จำเลยจะอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๖๙ มาใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้ ตามบทบัญญัติมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังกล่าวแล้วนั้น ไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าโดยสุจริตหรือไม่
พิพากษายืน

Share