คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1000/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันโดยมีบันทึกข้อตกลงเป็นหนังสือท้ายทะเบียนหย่าให้โจทก์ซึ่งเป็นบิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว กรณีต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลยังไม่ได้สั่งเพิกถอนอำนาจปกครองของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 วรรคหนึ่งแล้วโจทก์จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566(6) ข้อตกลงตาม สัญญาหย่าระบุเพียงให้จำเลยไปมาหาสู่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ ตลอดเวลา หามีข้อตกลงให้จำเลยรับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอุปการะเลี้ยงดูไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะนำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายมีบุตรแฝดด้วยกัน 2 คน คือเด็กชายต่อเผ่า แก้วพนม และเด็กชายตามพันธุ์แก้วพนม บุตรทั้งคู่อายุ 3 ปี 8 เดือน ต่อมาโจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน โดยมีข้อตกลงให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว ประมาณปี 2541 จำเลยไปรับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองมาอยู่กับจำเลยจนถึงปัจจุบัน โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยมอบบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคืน แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยคืนบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์ และมีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว

จำเลยให้การว่า จำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากโจทก์โดยมีข้อตกลงให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจริง เหตุที่จำเลยไปรับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองมาอุปการะเลี้ยงดูเองเพราะโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปให้มารดาโจทก์เลี้ยงดูที่จังหวัดนครสวรรค์ มิได้เลี้ยงดูด้วยตนเองที่บ้านโจทก์ที่จังหวัดสมุทรปราการตามที่ตกลงกันอันเป็นการประพฤติผิดข้อตกลงและจำเลยได้ฟ้องขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองของโจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดสืบพยานและพิพากษาให้จำเลยมอบเด็กชายต่อเผ่า แก้วพนม และเด็กชายตามพันธ์ แก้วพนม บุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ให้งดสืบพยานและอุทธรณ์คำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องซึ่งจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธรับฟังได้ว่าโจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากกันเมื่อปี 2539 โดยทำบันทึกข้อตกลงเป็นหนังสือท้ายทะเบียนหย่าให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว ในปี 2541จำเลยไปรับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแล้วไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 งดสืบพยานและพิพากษาให้จำเลยคืนบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน โดยมีบันทึกข้อตกลงเป็นหนังสือท้ายทะเบียนหย่าให้โจทก์ซึ่งเป็นบิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว กรณีต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลยังไม่ได้สั่งเพิกถอนอำนาจปกครองของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง แล้วโจทก์จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566(6) ทั้งตามข้อตกลงตามสัญญาหย่าระหว่างโจทก์จำเลยตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ก็ระบุเพียงให้จำเลยไปมาหาสู่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ตลอดเวลา หามีข้อตกลงให้จำเลยรับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอุปการะเลี้ยงดูไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะนำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองให้งดสืบพยานและพิพากษาให้จำเลยมอบบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share